-
โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ...ภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในกระดูกสันหลัง
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
16-ก.ย.-2567

โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ...ภัยเงียบที่แฝงตัวอยู่ในกระดูกสันหลัง

หลายคนที่มีอาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา หรือรู้สึกชาและอ่อนแรงบริเวณขา นั่นอาจแสดงถึงภาวะที่ร่างกายกำลังเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า "โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ" ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ยังอายุน้อยได้เช่นกัน ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นไม่ใช่น้อย บทความนี้จึงมาแนะนำถึงการรู้เท่าทันและจัดการกับอาการตั้งแต่เนิ่นๆ และวิธีป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามจนกระทบต่อคุณภาพชีวิต

 


โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบคืออะไร?

กระดูกสันหลังของคนเราตั้งแต่ระดับคอจนถึงเอว จะมีช่องว่างภายในกระดูกที่เรียกว่า “ช่องไขสันหลัง” ซึ่งภายในช่องไขสันหลังนั้นก็จะประกอบไปด้วยไขสันหลัง รากประสาท หลอดเลือด และเอ็นที่ยึดกระดูกสันหลัง

โดยภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) คือภาวะที่ช่องโพรงกระดูกสันหลังเกิดแคบลง จนกดเบียดรบกวนไขสันหลัง หลอดเลือด หรือเส้นประสาทต่างๆ ที่ผ่านในช่องทางนี้ถูกกดทับ มักเกิดขึ้นบ่อยในส่วนของหลังส่วนล่าง ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดขา รู้สึกชาตามแขนขา หรือปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง หากปล่อยไว้อาการเหล่านี้อาจรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อการเคลื่อนไหว และรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ที่เป็นได้

 

สาเหตุของโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ

ภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบมักเกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกและข้อที่มากับอายุที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ เช่น

  • กระดูกงอก (Osteophytes) : เกิดจากกระบวนการฟื้นฟูตัวเองของกระดูกที่ผิดปกติ
  • หมอนรองกระดูกเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท : ทำให้ช่องโพรงกระดูกสันหลังแคบลง
  • การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง : ไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุหรือการเคลื่อนไหวผิดท่า ที่ทำให้กระดูกเคลื่อนหรือหัก
  • โรคหรือความผิดปกติทางพันธุกรรม : เช่น โรคกระดูกพรุน หรือความผิดปกติของกระดูกแต่กำเนิด
  • มีการใช้งานบริเวณหลังอย่างหนักเป็นประจำ : ยกของหนักเป็นประจำ ยกของในลักษณะผิดท่า หรือการนั่งผิดท่าบ่อยๆ เป็นเวลานาน

 


สัญญาณอาการจาก “ภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ”

โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบในแต่ละคนอาจมีอาการแสดงแตกต่างกันไป ทั้งยังแตกต่างกันตามตำแหน่งที่เกิดการตีบแคบ โดยแต่ละตำแหน่งจะมีอาการแสดงให้สังเกต ดังนี้

  1. ส่วนคอ (Cervical Stenosis) :
  • ปวดคอและไหล่
  • ชาและอ่อนแรงบริเวณแขนและมือ
  • มีปัญหาการทรงตัวและการเดิน
  1. ส่วนอก (Thoracic Stenosis) :
  • ปวดกลางหลัง
  • ชาและอ่อนแรงบริเวณขาหรือแขน
  • รู้สึกเหมือนถูกบีบรัดในช่องอก
  1. ส่วนเอว (Lumbar Stenosis) :
  • ปวดหลังส่วนล่างร้าวไปยังขา
  • ปวดขาเมื่อเดินนานๆ (Claudication)
  • ชาและอ่อนแรงบริเวณขา
  • อาจมีปัญหาด้านการปัสสาวะ หรือขับถ่าย

ระดับความรุนแรงของอาการมีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึงอาการจะรุนแรงขึ้น เมื่อมีการยืน เดินนานๆ หรือแอ่นหลัง แต่จะดีขึ้นเมื่อได้โน้มตัวไปด้านหน้า หรือได้นั่งพัก หากพบอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบได้

 

วิธีการรักษาและการจัดการอาการจาก “ภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ”

การรักษาภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  1. การรักษาด้วยยา : หากมีอาการไม่รุนแรงแพทย์อาจให้ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด หรือยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการ
  2. การทำกายภาพบำบัด : การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็สามารถช่วยบรรเทาอาการของภาวะโพรงกระดูกตีบแคบได้ รวมถึงการเข้ารับการกายภาพบำบัด ทั้งการยืดกล้ามเนื้อและการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ก็สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้
  3. การฉีดยาสเตียรอยด์ : หากมีอาการที่เริ่มรุนแรง แพทย์อาจใช้การฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากการกดทับเส้นประสาท
  4. การผ่าตัด : ในกรณีที่อาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น การรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อขยายโพรงในกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะการผ่าตัดผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ก็สามารถก็หนึ่งในวิธีรักษาที่สามารถช่วยให้พ้นจากภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบได้ ทั้งการผ่าตัดด้วยการส่องกล้องยังมีข้อดี คือ แผลเล็ก เจ็บน้อย และยังฟื้นตัวไวอีกด้วย

 


ป้องกันภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบได้อย่างไร?

แม้ว่าเราจะไม่สามารถหยุดยั้งการเสื่อมสภาพของกระดูกสันหลังตามวัยได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบก่อนวัยอันควรได้ ด้วยวิธีการเหล่านี้

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ : การออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ กระดูกสันหลัง หรือการฝึกโยคะหรือไทชิ ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของร่างกาย จะสามารถช่วยลดแรงกดทับบนกระดูกสันหลัง
  • การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม : น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานอาจเพิ่มแรงกดดันที่กระดูกสันหลัง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้มากขึ้นได้
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามิน D สูง : แคลเซียมมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก ส่วนวิตามิน D มีส่วนช่วยในการดูดซึมแคลเซียมให้ร่างกายนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การยกของอย่างถูกวิธี : การยกของหนักควรทำอย่างถูกต้อง โดยให้ใช้กล้ามเนื้อขาแทนที่จะใช้กล้ามเนื้อหลังในการยก และควรหลีกเลี่ยงการบิดตัวขณะยกของ
  • ปรับปรุงท่าทางให้เหมาะสม : การนั่ง ยืน และนอนในท่าทางที่ถูกต้อง สามารถลดแรงกดดันต่อกระดูกสันหลังได้ เช่น นั่งบนเก้าอี้ที่มีการรองรับหลังที่ดี และควรหลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนในท่าเดิมนานเกินไป
  • การตรวจสุขภาพประจำปี : หากมีอาการปวดหลังเรื้อรังหรืออาการที่เกี่ยวข้อง ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัย รวมถึงการทำ MRI หรือ CT scan หากจำเป็น เพื่อป้องกันการเกิดภาวะนี้ในระยะยาว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตได้

 

ภาวะโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบอาจฟังดูน่ากังวล แต่หากเรารู้เท่าทันและระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรังได้ เพราะเรา “ไม่ควรปล่อยให้อาการปวดหลังเป็นเพียงเรื่องธรรมดา” หากพบอาการหรือคนใกล้ตัวมีอาการคล้ายคลึงกับที่กล่าวมา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและการรักษาที่เหมาะสม

 

บทความโดย
นายแพทย์อนันต์ สัจจะมุนีวงศ์
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn