เขาบอกว่า...ยาเบาหวานทำให้เป็นโรคไต
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
เขาบอกว่า...ยาเบาหวานทำให้ไตวาย

          โรคเบาหวาน เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่การรักษาไม่สามารถทำได้ง่ายนัก เพราะเราต้องดูแลตัวเองทั้งสุขภาพ อาหารการกิน รวมไปถึงน้ำตาลในเลือดที่ควรอยู่ระดับที่เหมาะสม

          ในปัจจุบัน โรคเบาหวานเป็นโรคยอดนิยม อีกทั้งการรักษาที่มีหลายวิธี หลายขั้นตอน ทำให้ผู้ป่วยต้องการวิธีการรักษาที่ง่าย สะดวก และประหยัดที่สุด กลายเป็นว่าผู้ป่วยหลายๆ คน ที่รักษาโรคนี้ด้วยตัวเอง โดยไม่เข้ารับการรักษาจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญ มักได้รับข้อมูลที่ ไม่ครบถ้วน หรือขาดข้อเท็จจริงในการรักษา เช่น การซื้อยาชุดมาทานเอง การได้คำปรึกษาจากผู้ป่วยด้วยกัน แบบปากต่อปาก ในเรื่องของสมุนไพร หรือยาต้มที่อ้างสรรพคุณว่าสามารถรักษาโรคเบาหวานได้ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ยาชุดหรือยาเบาหวานที่ซื้อกินเองนั้นมีผลต่อร่างกายในระยะยาวและร้ายแรงมากด้วย!

          วิธีรักษาที่ถูกต้องและได้ผลที่สุด คือ การรักษาตัวตามคำแนะนำของแพทย์ที่เชี่ยวชาญ เพราะนอกจากผู้ป่วยจะต้องทานยาเบาหวานที่แพทย์สั่งจ่ายแล้ว ต้องได้รับการติดตามปริมาณน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิดอีกด้วย เพราะอย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่าการทานยาเบาหวานอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการรักษาโรคเบาหวาน แต่ต้องควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย และควบคุมอาหารด้วย อีกทั้งยาเบาหวานที่ได้รับการสั่งจ่ายการแพทย์ที่เชี่ยวชาญนั้น ใช้ได้เฉพาะบุคคลเท่านั้น เพราะแพทย์จะวินิจฉัยอาการและโรคเป็นรายบุคคล ก่อนที่จะจัดยาให้ตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย บางรายต้องทานยา หรือ บางรายต้องฉีดยาเพื่อรักษาอาการ ทำให้ไม่สามารถใช้ยาร่วมกันได้ แม้จะเป็นโรคเบาหวานเหมือนๆ กันก็ตาม
ฉีดยา? หรือทานยา?
          ผู้ป่วยหลายท่านที่เป็นโรคเบาหวาน อาจมีความเชื่อที่ว่าการฉีดยาเบาหวาน ได้ผลดี และมีผลเสียต่อไตน้อยกว่าการทานยา ซึ่งความจริงแล้ว การฉีดยาก็ดี หรือการทานยาก็ดีนั้น สามารถรักษาโรคเบาหวานได้เหมือนกัน เพียงแต่ผู้ป่วยบางรายต้องได้รับการฉีดยาเบาหวานหรือทานยานั้นขึ้นอยู่กับแนวโน้มของอาการและแนวทางการรักษา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยตามความเหมาะสม ซึ่งในตัวยาเบาหวานบางตัวมีผลดีต่อไตผู้ป่วยด้วยซ้ำ เพราะในผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ แม้จะรักษาด้วยการให้ทานยาเบาหวาน แพทย์ก็จำเป็นต้องใช้ยาฉีดแทน ฉะนั้นการจะบอกว่าทานยา หรือ ฉีดยา แบบไหนดีกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษาที่ได้ผลในแต่ละบุคคลมากกว่า


แล้วยาชุดต่างจากยาที่หมอสั่งจ่ายให้ตรงไหน?
          ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการรักษาเพียงไม่กี่ครั้ง ก็ไปซื้อยาทานเอง โดยอาศัยการดูชื่อตัวยาที่ฉลากข้างซอง แล้วก็ไปหาซื้อเองตามร้านขายยาทั่วไป หรือการรับฟังข้อมูลจากการบอกต่อๆ กัน โดยไม่เข้ารับการรักษาโดยแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง เพราะโรคเบาหวาน ในแต่ละระยะต้องได้รับยาเบาหวานที่แตกต่างกันออกไป การทานยาไม่ถูกต้องตามอาการของโรค จะส่งผลเสียต่อผู้ป่วยเอง นอกจากพวกยาชุดที่ซื้อทานเองแล้ว ยังมียาแก้ปวดหรือยาในกลุ่มเอ็นแสด หรือ ยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เช่น ไดโคลฟีแนค ไอบูโรเฟ่น พอนสแตน ที่เราๆ หาซื้อทานกันเวลามีไข้ แก้อักเสบนั้น ยังเป็นพิษต่อไตเมื่อใช้ยาเป็นระยะเวลานานติดต่อกันเป็นเดือนๆ และลามไปถึงโรคดันความโลหิตสูงได้อีกด้วย

          สุดท้ายนี้ โรคเบาหวานนอกจากต้องทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแล้ว เราต้องตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน ทั้งการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย รวมถึงการรับข้อมูลต่างๆ ที่บอกถึงการรักษาไม่ว่าจะง่ายหรือยาก ช้าหรือเร็ว ควรศึกษาข้อมูลให้แน่ใจก่อนว่าส่งผลดีต่อร่างกายอย่างแท้จริง

          ขอบคุณบทความดีๆ จาก

        นพ.วีระยุทธ บุญเกียรติเจริญ
แผนกตรวจสุขภาพ ประจำโรงพยาบาลเปาโล รังสิต

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่ Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต