ช่วงตั้งครรภ์ ปัญหาสุขภาพที่คุณแม่พบบ่อย
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
27-ก.ค.-2565
ช่วงตั้งครรภ์ ปัญหาสุขภาพที่คุณแม่พบบ่อย

         ปัญหาสุขภาพคุณแม่ ช่วงขณะตั้งครรภ์ที่มักพบบ่อย ได้แก่ ภาวะเสี่ยงแท้งหรือภาวะแท้งคุกคาม การแพ้ท้อง ท้องผูก และถ้าผู้หญิงตั้งครรภ์มีอายุมากก็มักเจอภาวะ เบาหวาน และดาวน์ซินโดรม เป็นปัญหาสุขภาพที่คุณแม่ควรระวัง เพราะอาจส่งผลกระทบทำให้การตั้งครรภ์ไม่สามารถดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ได้

        โดยตลอดช่วงการตั้งครรภ์ควรดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ สามารถออกกำลังกายเบาๆได้ เช่น ว่ายน้ำ โยคะ ไม่ควรเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันที่รวดเร็วจนเกินไป สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่น รองเท้าที่สามารถเดินได้สะดวก ไม่สวมส้นสูง บริหารจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม และฝากครรภ์ เพื่อรับคำแนะนำการดูแลสุขภาพ พร้อมติดตามพัฒนาการเจริญเติบโตของทารกในแต่ละช่วงสัปดาห์ เพื่อให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้มีคุณภาพและมีความปลอดภัย

ตั้งครรภ์

1.ภาวะเสี่ยงแท้ง หรือภาวะแท้งคุกคาม

         หมายถึงภาวะที่การแท้งกำลังคุกคามต่อการตั้งครรภ์แต่ยังไม่เกิดการแท้งจริง มักพบในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ การได้รับความกระทบกระเทือน จากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันตามปกติ เช่น การออกกำลังกาย การมีเพศสัมพันธุ์ การยกของหนัก การเดินที่มากเกินไป

         อาการแสดงของภาวะแท้งคุกคาม ที่ต้องสังเกต ได้แก่ ปวดท้องน้อยหน่วงๆ คล้ายกับการมีประจำเดือน ในบางรายอาจพบการมีเลือดออกร่วมด้วย ซึ่งหากยังมีการสะเทือนต่อเนื่องภาวะแท้งคุกคามจะยังคงดำเนินต่อไป จนเกิดการแท้งจริงได้

         และในส่วนของการรักษาเพื่อหยุดภาวะแท้งคุกคามนั้นสามารถทำได้โดย ผู้ที่ตั้งครรภ์ต้องหยุดพักฟื้น หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อร่างกาย เพื่อให้อาการคลายตัว ร่วมกับการเข้าพบสูตินรีแพทย์ ซึ่งจะได้รับการฉีดยาป้องกันการแท้ง เพื่อช่วยให้การตั้งครรภ์ครั้งนี้ดำเนินต่อไปได้

2.การแพ้ท้อง

        เป็นอาการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของคุณแม่ มักพบในช่วง 2-4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ สาเหตุจากการที่ร่างกายมีการตอบสนองต่อระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายระบบของร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหารที่แย่ลง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน อารมณ์หงุดหงิดง่ายขึ้น

          โดยในบางรายอาจพบการแพ้ท้องรุนแรง ทำให้ไม่สามารถทานอาหาร ไม่สามารถดื่มน้ำได้ เป็นผลให้เกิดภาวะขาดน้ำและอ่อนเพลียตามมา เช่นนี้มีความอันตรายต่อการตั้งครรภ์ ควรเข้าพบสูตินรีแพทย์เพื่อทำการดูแลรักษาในทันที การดูแลสุขภาพในช่วงนี้จึงแนะนำทานอาหารที่ย่อยง่าย แบ่งการทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แทนการทานมื้อใหญ่ เมื่อร่างกายปรับตัวได้ก็จะหายจากการอาการแพ้ท้อง

3.ภาวะท้องผูก

        เป็นอาการปกติที่พบได้ในการตั้งครรภ์ช่วงไตรมาส 2-3 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยอาหารขณะตั้งครรภ์ ทำให้มีปัญหาท้องผูกขึ้น และเกิดการเบ่งถ่าย ตามมาด้วยความเสี่ยงของการเกิดโรคริดสีดวงทวาร หรือในรายที่เป็นโรคริดสีดวงทวารอยู่แล้วอาการก็จะรุนแรงมากขึ้น การดูแลสุขภาพในช่วงนี้จึงแนะนำให้การดื่มน้ำผลไม้ หรือการทานผักผลไม้ที่มีกากใยอาหารสูง ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นกระบวนขับถ่ายให้ทำงานมีประสิทธิภาพ

4. ครรภ์เป็นพิษ

        มักพบในช่วงของการตั้งครรภ์ในไตรมาส 3 ภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้มีอาการตัวบวม ตาพร่ามัว จุกแน่นลิ้นปี่ ปวดศีรษะ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีการคลอดก่อนกำหนดได้ สามารถเกิดขึ้นได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวมาก ซึ่งในการตั้งครรภ์ 1 ครั้ง น้ำหนักจะเพิ่มสูงขึ้น 12 – 15 กิโลกรัม ดังนั้นในช่วงของการตั้งครรภ์ควรควบคุมน้ำหนักไม่ให้ขึ้นมากเกินไป หรือน้อยเกินไป โดยเฉลี่ยต่อเดือนน้ำหนักควรเพิ่ม 1.5 – 2.5 กิโลกรัม เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

เบาหวาน ตั้งครรภ์

5.เบาหวาน

        หากในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ก็เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานได้ หรือในรายที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มสูงมากในช่วงตั้งครรภ์ โดยเมื่อตรวจพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์มีระดับน้ำตาลสูงกว่ามาตรฐาน จึงจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยการใช้ยา และการควบคุมอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ทารกมีความพิการ ทารกมีน้ำหนักตัวมากกว่า 4 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน และภาวะน้ำตาลตกในทารกเมื่อคลอดออกมา เกิดจากความคุ้นชินของร่างกายทารกที่ได้รับน้ำตาลในปริมาณสูงเมื่ออยู่ในครรภ์ เมื่อมีทารกคลอดออกมาจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษทันทีจากกุมารแพทย์

6.ดาวน์ซินโดรม

        ถือเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการเกิดขึ้นได้ ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุมาก โดยเฉพาะอายุ 35 ปี ขึ้นไป หรือมีประวัติของบุคคลในครอบครัว ทั้งนี้เมื่อทราบว่ามีการตั้งครรภ์ ควรได้รับการตรวจคัดกรองหาความผิดปกตินี้ ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการตรวจที่หลากหลาย แต่ที่นิยมทำในปัจจุบัน

        การเจาะน้ำคร่ำ เป็นการเจาะนำน้ำคร่ำของทารก ในช่วงอายุครรภ์ 18 – 19 สัปดาห์ เพื่อนำเซลล์ของทารกที่ปะปนอยู่นั้น ไปตรวจดูจำนวนโครโมโซม โดยวิธีการตรวจนี้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญของผู้ตรวจ เนื่องจากมีความเสี่ยงของการที่ทารกในครรภ์จะมีการเคลื่อนตัวมากระทบกับเข็ม ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้NIPT TEST เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ ที่สามารถตรวจได้เมื่ออายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป โดยการเจาะเลือดของแม่ตั้งครรภ์ เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฎิบัติการ ในการหาความผิดปกติของโครโมโซมของทารก โดยการตรวจชนิดนี้ถือเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น หากผลการตรวจสงสัยว่ามีภาวะดาวน์ซินโดรม จะต้องตรวจยืนยันโดยการเจาะน้ำคร่ำอีกครั้ง

บทความโดย
นพ.สุระ โฉมแฉล้มสูตินรีแพทย์
ชำนาญการเฉพาะทางผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร

คลิก...ตารางแพทย์ออกตรวจ



Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset


โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร.02-1500-900