รับมืออย่างไร เมื่อลูกเป็นไข้หวัดใหญ่
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
30-ก.ย.-2567

รับมืออย่างไร เมื่อลูกเป็นไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อ อินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza Virus) ซึ่งเชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย และติดต่อผ่านการไอ จาม หรือการหายใจรดกัน

อาการเมื่อเด็กเป็นไข้หวัดใหญ่
😷 ไข้สูง น้ำมูกใส คัดจมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร อาจมีอาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย ไข้นาน ประมาณ 3 – 7 วัน
😷 อาการไอและมีน้ำมูก นาน 1 – 2 สัปดาห์
😷 ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ , หลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนมักพบในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี , เด็กที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคปอด หอบหืด โรคเบาหวาน โรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง โรคอ้วน เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่
ตรวจหาเชื้อไวรัสโดยการป้ายบริเวณคอ หรือจมูก โดยผลตรวจจะแม่นยำหลังมีไข้ ประมาณ 24 ชั่วโมง

เด็กเป็นไข้หวัดใหญ่


การรักษาไข้หวัดใหญ่ในเด็ก
💊 ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ หากอาการไม่รุนแรง แต่ในรายที่มีความเสี่ยงสูงที่เกิดอาการรุนแรงของโรคสามารถพิจารณาให้ยาต้านไวรัส (Oseltamivir) ได้ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพดี หากได้รับยาภายใน 48 ชั่วโมง หลังมีอาการ
💊 ยาอื่น ๆ เป็นยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาละลายเสมหะ ยาลดไข้ เป็นต้น

การดูแลลูกน้อยเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
🩺 เช็ดตัว ทานยาลดไข้ สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ปรับอุณภูมิห้องให้เหมาะสม
🩺 ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
🩺 รับประทานอาหารอ่อน ๆ และนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
🩺 แนะนำให้ลูกหยุดเรียน เป็นระยะเวลา 5 – 7 วัน ขึ้นอยู่กับอาการ
🩺 สวมผ้าปิดปาก ล้างมือบ่อย ๆ แยกสิ่งของเครื่องใช้กับผู้อื่น

ล้างมือบ่อยๆ

การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

1. ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังจากออกนอกบ้านและก่อนรับประทานอาหาร หรือใช้เจลล้างมือแทนได้

2. หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่แออัดและไม่ให้ลูกเข้าใกล้ผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดใหญ่ 

3. รับวัคซีนป้องกันโรค สามารถฉีดได้ตั้งแต่ อายุ 6 เดือน โดยวัคซีนจะมีประสิทธิภาพประมาณ 40 – 60 % ซึ่งการที่เด็กจะได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ จะขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเด็ก ดังนี้

    3.1 ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 9 ปี กรณีเริ่มฉีดวัคซีนเป็นปีแรก จะฉีด 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน หลังจากนั้นปีถัด ๆ ไป จะฉีดปีละครั้ง

    3.2 กรณีเด็กที่มีอายุมากกว่า 9 ปี ให้ฉีดปีละ 1 ครั้ง

4. กรณีที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด และเด็กเล็กอายุที่น้อยกว่า 2 ปี หากเป็นไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงได้จึงควรได้รับวัคซีนทุกคน

5. ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทุกปี วัคซีนจะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่เป็นองค์ประกอบ จึงต้องฉีดทุกปีแนะนำให้ฉีดในช่วงก่อนที่มีการระบาด เช่น ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

6. สมาชิกในครอบครัวจึงควรได้รับวัคซีนทุกคน ครอบครัวที่มีเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งเด็กยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ 

7. ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น


📚บทความสุขภาพสำหรับเด็ก📚 
📖 โรคไอพีดี (IPD) ในเด็กป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
📖 โรคยอดฮิตในเด็ก ที่มาพร้อมกับฤดูฝน
📖 โรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียในเด็ก ต้อนรับช่วงเปิดเทอม
📖 โรคท้องร่วงในเด็ก DIARRHEA
 




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ตรวจสุขภาพเด็ก โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5121
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset