ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด Robotic assisteb TKA
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
01-มิ.ย.-2566
ข้อเข่าเสื่อม โรคยอดฮิตในสังคมผู้สูงอายุ
       ในปัจจุบันเราพบว่าประชากรในประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนในส่วนของตัวฐานประชากร โดยพบว่ามีสังคมของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นซึ่งสังคมของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นนั้น จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในเรื่องของภาวะข้อเข่าเสื่อมมีมากขึ้น


อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มาด้วยเรื่องโรคข้อเข่าเสื่อม อาการแรกที่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ ก็คือ มาด้วยอาการปวดขัดข้อ การเคลื่อนไหวข้อลำบาก ระยะการเคลื่อนไหวข้อลดลง การใช้ชีวิตประจำวันลำบาก เช่น การลงไปนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ หรือการเดิน เดินได้น้อยลง ขึ้นลงบันไดมีอาการปวดข้อเข่ามากขึ้น มีเสียงในข้อเข่า

ข้อเข่าเสื่อมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
1. กลุ่มภาวะข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิ (primary knee osteoarthritis) เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของผิวกระดูกอ่อนตามอายุ ซึ่งเราพบว่าส่วนมากมักจะเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ที่อยู่ในช่วงอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป โดยอาจจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป การใช้งานของข้อเข่าที่หนักๆมา รวมไปถึงพันธุกรรมที่อาจจะมาเกี่ยวข้องด้วย และในส่วนของเพศชายโดยส่วนมากแล้วเราจะเจอภาวะข้อเข่าเสื่อมในผู้ป่วยที่มีอายุสูงกว่า 60 ปี ซึ่งอาการการแสดงออกของโรคก็จะแสดงออกน้อยกว่าในกลุ่มของผู้ป่วยเพศหญิง
2. กลุ่มภาวะข้อเข่าเสื่อมชนิดทุติยภูมิ (secondaryary knee osteoarthritis) ส่วนใหญ่จะเจอในกลุ่มผู้ป่วยที่อายุน้อยเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะอื่นนำมาในการเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม คือ
- กลุ่มที่มีโรคอื่นนำมาก่อน ซึ่งประกอบด้วย โรคข้อรูมาตอยด์ โรคข้อเก้าท์ และ โรค SLE
- กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการทานยาสเตียรอยด์มานานๆ กลุ่มพวกนี้ก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดภาวะการขาดเลือดของกระดูกข้อที่แสดงออกได้โดยปวดข้อเข่าร่วมด้วยได้
- กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับอาการบาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บทางด้านกีฬาหรือการบาดเจ็บที่เกิดการแตกหักของกระดูกอ่อนผิวข้อ หรือการแตกหักในระดับเหนือและใต้ปลอกข้อเข่าซึ่งทำให้มุมของข้อเข่าผิดปกติไป

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
ในเบื้องต้นทางแพทย์ผู้ทำการรักษาจะทำการประเมินระยะของภาวะข้อเข่าเสื่อม ซึ่งโดยส่วนมากก็จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
ระยะที่1 กับ ระยะที่2
จะประเมินจากภาพเอกซเรย์ และการตรวจร่างกาย ซึ่งพบว่าการรักษาแบบประคับประคองยังสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยในระยะที่1 และ 2 โดยการรักษาแบบประคับประคอง คือ
-
การแนะนำการปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน
- แนะนำเรื่องการลดน้ำหนัก
- กิจกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น
- การใช้ยาต้านการอักเสบข้อเข่า เพื่อลดอาการปวดของผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยารักษาอยู่ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ และนอกจากนี้ยังมีกลุ่มของยาที่ช่วยในการชะลอในการเสื่อมของผิวข้อ ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบที่เป็นยาทาน และรูปแบบในกลุ่มของยาฉีดเข้าข้อ รวมไปถึงการรักษาที่เริ่มมีการนำมาใช้ในปัจจุบันมากขึ้นก็คือการฉีดเกล็ดเลือดเข้าสู่ข้อเข่า
ระยะที่ 3 กับ 4
หากผู้ป่วยที่รักษาโดยการประคับประคองแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจะวัดผลจากครั้งแรกที่เราจะมาผ่าตัดอยู่ในช่วง 3 – 6 เดือน  ถ้าอาการไม่ดีขึ้นทางแพทย์ก็อาจจะแนะนำและลงความเห็นว่าถึงระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องได้เข้ารับการรักษา โดยวิธีการผ่าตัด เพื่อที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และช่วยลดอาการปวด สามารถที่จะกลับมาเดินได้ งอเหยียดข้อเข่าได้ กลับมาทำกิจวัตรประจำวันที่ผู้ป่วยเคยทำได้

การผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
1. การผ่าตัดแก้ไขแนวกระดูก
ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขแนวกระดูก จะเป็นการแก้ไขแนวการผิดรูปของแนวขา เพื่อเปลี่ยนแนวการรับน้ำหนัก ซึ่งคนไข้ที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดแก้ไขแนวกระดูก ส่วนใหญ่จะเป็น
- ผู้ป่วยที่มีอายุน้อย
- มีความเสื่อมของผิวข้อค่อนข้างที่จะน้อย
- เส้นเอ็นรอบๆผิวข้อ โดยเฉพาะเอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลัง ควรจะต้องดี
- กลุ่มผู้ป่วยอายุน้อยที่มีน้ำหนักตัวเยอะแต่ยังต้องการที่จะกลับไปทำงานหนักอีก เช่น อยากจะกลับไปเล่นกีฬา ซึ่งถ้าเราเจอผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่อายุน้อย เราก็อาจจะพิจารณาการผ่าตัดแก้ไขแนวกระดูก
      ปัจจุบันการผ่าตัดแก้ไขแนวกระดูกได้รับความนิยมน้อย เพราะว่าหลังการผ่าตัดไปแล้วผู้ป่วยยังไม่สามารถที่จะลงน้ำหนักได้ทันที อาจจะลงน้ำหนักได้แค่ครึ่งเดียว ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือนหลังจากผ่าตัดถึงจะสามารถลงน้ำหนักได้ และอาการปวดหลังผ่าตัดก็ดีขึ้นมาประมาณ 80 % เท่านั้น

2. การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเทียม ปัจจุบันมีอยู่ 2 กลุ่มหลักๆ ก็คือ
- การเปลี่ยนผิวข้อชนิดครึ่งเดียว โดยกลุ่มนี้การตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจเอกซเรย์จะมีความสำคัญมากในการตัดสินใจการผ่าตัดชนิดเปลี่ยนผิวข้อข้างเดียว ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกผู้ป่วยที่มีอาการน้อย เป็นข้อเข่าเสื่อมชนิดด้านเดียว ไม่ได้เป็น 2 ด้าน  
ข้อดีของผิวข้อชนิดนี้ คือ ผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่เหมือนข้อปกติ ยังคงมีการเก็บเอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลังและเอ็นทุกส่วน
ระยะเวลาการใช้งานหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อชนิดครึ่งเดียว มีอายุของข้อมากกว่า 15 ปี ผู้ป่วยก็สามารถที่จะกลับไปวิ่งจ๊อกกิ้งได้ เล่นกีฬาได้ งอเหยียดได้ นั่งพับเพียบเหมือนปกติได้ เพียงแต่เราต้องเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดครึ่งเดียว
- การผ่าตัดข้อเข่าเทียมชนิดผ่าตัดเปลี่ยนทั้งข้อ
เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ในประเทศไทยใช้กันบ่อยมากกว่า 95 %
ข้อดีคือสามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ในทุกๆส่วนของข้อ ไม่ว่าจะเป็นข้อกระดูกเข่าส่วนบน กระดูกเข่าส่วนล่าง ด้านข้าง ด้านใน และด้านนอก สามารถการันตีอาการหายปวดได้มากถึง 95 % ผู้ป่วยสามารถที่จะเดินได้ตามปกติ ขึ้นลงบันไดได้ และข้อห้ามในการใช้ชีวิตประจำวันก็ไม่ได้เยอะมากมาย
อายุการใช้งานสามารถใช้งานได้มากกว่า 15 ปี และสามารถใช้ได้ในทุกช่วงอายุของผู้ป่วยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมซึ่งจะแตกต่างกับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมชนิดครึ่งเดียว


วิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดข้อเข่าเทียมโดยปกติทั่วไปแล้วเราก็จะผ่าตัดในลักษณะที่เป็นการใช้เครื่องมือผ่าตัด และผ่าตัดโดยใช้แพทย์ปกติหรือที่เรียกว่าการผ่าตัดแบบวิธีเทคนิคปกติ แต่ปัจจุบันเรามีอุปกรณ์ที่จะใช้ในการช่วยผ่าตัดก็คือกลุ่มคอมพิวเตอร์นำวิถีที่ถูกนำมาพัฒนาเพื่อช่วยในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม โดยการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotic Knee Replacement) หรือที่มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า (Robotic Assisted Joint Replacement Surgery)

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Knee Replacement) คือ???
การใช้หุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดคือหุ่นยนต์จะมีหน้าที่ในการควบคุมมุมการตัด โดยที่การเลือกมุมการตัดก็ยังคงเป็นหน้าที่ของแพทย์ ทางแพทย์ผู้ผ่าตัดยังคงมีหน้าที่ในการทำการผ่าตัดคนไข้ แต่ตัวหุ่นยนต์จะช่วยในการจับวัด เพราะฉะนั้นความละเอียดในการผ่าตัดจะค่อนข้างที่จะสูงกว่าการใช้ตามองหรือการวัดโดยการใช้ไม้บรรทัดวัดในการผ่าตัด ความแม่นยำสูง เมื่อมีความแม่นยำสูง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็จะสูงขึ้นด้วย และมีการคาดว่าเมื่อมีความแม่นยำในการจัดวางที่สูงจะทำให้อายุการใช้งานข้อเข่าเทียมของผู้ป่วยมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของตัวหุ่นยนต์ยังสามารถควบคุมแนวการตัดและช่วยควบคุมระยะการตัดความลึกความกว้างของการตัดและลดการไปบาดเจ็บต่อกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นที่อยู่รอบๆ ข้อ ได้อีกด้วย ดังนั้นการปวดในการผ่าตัดโดยการใช้หุ่นยนต์ก็จะน้อยกว่าผู้ป่วยที่เราผ่าตัดโดยเทคนิคปกติ แต่ระยะเวลาในการผ่าตัดโดยการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดจะมีช่วงระยะเวลาในการผ่าตัดสูงขึ้นไม่เกิน 20 นาที

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดด้วยการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Knee Replacement)
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดในส่วนของการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไม่ได้แตกต่างจากวิธีการผ่าตัดแบบเทคนิคปกติ
โดยปกติแล้วผู้ป่วยก็จะต้องมีการตรวจความพร้อมของร่างกาย คือ
- ตรวจการทำงานของหัวใจ ซึ่งในปัจจุบันเราก็พบว่าอายุอาจจะไม่ได้เป็นเกณฑ์หลักที่เราจะตัดสินใจเลือกผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดในกลุ่มของการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม แต่จะดูฟังก์ชันการทำงานของหัวใจจากการทำอัลตร้าซาวด์ของหัวใจเป็นหลักว่าผู้ป่วยมีฟังก์ชันการทำงานของหัวใจที่ดีหรือไม่ สามารถที่จะเข้ารับการผ่าตัดได้หรือไม่
- ตรวจการทำงานของปอด
- ตรวจค่าเลือดต่างๆ ในร่างกาย
- การทำกายภาพก่อนการเข้ารับการผ่าตัด
- การคุมน้ำหนัก เพื่อที่จะช่วยให้ผู้สามารถฟื้นตัวได้ไวหลังจากการเข้ารับการผ่าตัด

การดูแลรักษาตัวและติดตามอาการหลังจากการผ่าตัด
ในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่ รพ. ทางทีมแพทย์ก็จะดูแลในเรื่องของ
- การระงับอาการปวดหลังจากการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีการระงับการปวดหลังผ่าตัดที่ทางทีมแพทย์ผ่าตัดทำร่วมกันกับทางทีมวิสัญญีแพทย์ ก็จะสามารถควบคุมระดับอาการปวดของผู้ป่วย ได้ในระดับ 0 - 3 คะแนน (ระดับการปวดที่มากที่สุดก็คือ 10 คะแนน น้อยสุดก็คือ 0 คะแนน)
- การฝึกกายภาพบำบัด ในขณะที่ผู้ป่วยนอนพักรักษาตัวอยู่ รพ. ซึ่งผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยสามารถเดินโดยใช้ไม้เท้าหรือวอคเกอร์ได้ สามารถเดินได้ตัวเอง สามารถช่วยเหลือตัวเองในการเข้าห้องน้ำ ลุกขึ้นไปเปลี่ยนเสื้อผ้าได้ ผู้ป่วยจะต้องสามารถเหยียดข้อเข่าได้สุดอยู่ที่ประมาณ 0 องศา และงอเข่าได้มากว่า 90 องศา ได้ ซึ่งหลังจากการผ่าตัดในช่วงแรกการทำกายภาพบำบัดเป็นสิ่งสำคัญที่แพทย์มักจะแนะนำผู้ป่วยให้ไปทำต่อที่บ้าน ภายใน 3 เดือน การฟื้นฟูกำลังของกล้ามเนื้อรอบเข่าจะเต็มที่ จะสามารถช่วยลดการหกล้มได้
- แผลผ่าตัด หลังจากที่ผู้ป่วยกลับบ้านไปแล้ว แพทย์จะนัดติดตามอาการผู้ป่วยเพื่อดูในเรื่องของตัวแผลผ่าตัด ซึ่งส่วนมากแผลผ่าตัดภายนอกเราจะพบว่าภายใน 2 อาทิตย์แผลผ่าตัดจะต้องหายไป และสามารถกลับไปอาบน้ำใช้ชีวิตประจำวันได้
- การลดอาการอักเสบ เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม จะมีการตัดผิวกระดูกแพทย์ก็จะมีการติดตามอาการอักเสบในข้อ ซึ่งการลดอาการอักเสบในช่วงแรกก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยประคบเย็นในช่วง 2 สัปดาห์ – 1 เดือนแรก หลังจากนั้นก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยประคบอุ่นเพื่อให้เอ็นรอบๆ ข้อ รอบกล้ามเนื้อรอบๆ มีการคลายตัวได้มากขึ้น ระยะการเคลื่อนไหวก็จะดีมากขึ้น

ข้อเข่าเทียมมีโอกาสที่จะหลุดหรือไม่
ข้อเข่าเทียมมีโอกาสที่จะหลุดได้ 2 กรณี ดังนี้
1. กรณีที่มีการผ่าตัดวางตำแหน่งข้อเข่าเทียมที่ไม่ถูกต้อง เป็นกรณีที่มีการผ่าตัดแล้วก็เลือกการความสัมพันธ์ระหว่างเส้นเอ็นของคนไข้ในท่าเหยียดกับท่างอที่ไม่สัมพันธ์กัน
2. กรณีที่คนไข้ได้รับอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม แล้วเกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็นรอบๆข้อ ก็อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะข้อเข่าเทียมหลุดได้

        อย่างไรก็ตาม การลดความเสี่ยงหรือการชะลอในการเกิดภาวะโรคข้อเข่าเสื่อมเริ่มต้นได้จากการควบคุมน้ำหนัก หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีผลต่อข้อเข่า เช่น การเล่นกีฬาที่มีการกระแทกต่อข้อเข่า การงอเหยียดข้อเข่าในมุมที่มาก ๆ ที่อาจจะกระตุ้นให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมได้ แต่หากมีอาการปวดข้อเข่า ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมินและวินิจฉัย เพื่อที่จะช่วยคืนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้ป่วยหลังจากการเข้ารับรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114


Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset