การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม Total knee arthroplasty
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
15-พ.ย.-2565

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม Total knee arthroplasty
          การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
Total knee arthroplasty เป็นทางเลือกเพื่อการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม โดยก่อนเข้ารับการผ่าตัดนั้นผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกายร่วมกับการเอกซเรย์ข้อเข่า เพื่อประกอบการวินิจฉัยประเมินระดับความรุนแรงของการข้อเข่าเสื่อมนั้นอยู่ในเกณฑ์การผ่าตัดหรือไม่ และต้องผ่านการรักษาอาการข้อเข่าเสื่อมมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งข้อเข่าเสื่อมนั้นแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

 1. ข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิ
มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีอายุมากกว่า 50 ปี และกลุ่มที่มีความเสื่อมตามธรรมชาติ เนื่องจากการใช้ข้อเข่ามาเป็นระยะเวลานาน


2.
ข้อเข่าเสื่อมชนิดทุติยภูมิ

มักพบปัญหาข้อเข่าเสื่อมในช่วงอายุที่น้อยกว่า 50 ปี มีสาเหตุนำมาด้วยโรคประจำตัวและปัญหาสุขภาพ เช่น โรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ โรคเกาต์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) เคยมีภาวะติดเชื้อในข้อเข่า ประวัติได้รับอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บบริเวณเอ็นหัวเข่า โดยส่วนมากมักสัมพันธ์กับภาวะเอ็นไขว้หลังฉีกขาด และหมอนรองกระดูกฉีกขาด



ข้อบ่งชี้ ที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

1. มีอาการขัดบริเวณข้อ มีเสียงดังในข้อเข่าเมื่อเคลื่อนไหว
2. มีอาการปวดเวลาลงน้ำหนัก เวลาเดินและทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
3. การใช้งานของข้อเข่าทำงานได้ลดลงจากภาวะปกติ เช่น การงอเหยียดเข่าไม่สามารถทำได้ ไม่สามารถนั่งพับเพียบได้
4. เวลาก้าวเดินมีความรู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกเข่าหลวม
5. มีลักษณะขาโก่ง และขาแปร่วมด้วย

 

การรักษาข้อเข่าเสื่อม ประกอบด้วย

1. การลดน้ำหนัก
2. การทำกายภาพบำบัด
3. การทานยาลดอาการปวด ลดอาการอัดเสบ
4. การฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่า
5. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

 

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

ก่อนเข้ารับการผ่าตัดแพทย์จะทำการตรวจประเมินระดับความเสื่อมของข้อเข่า เพื่อเลือกชนิดข้อเข่าเทียมที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ

 

1.การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดครึ่งข้อ

Unicompartmental Knee Arthroplasty (UKA)

 

2. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมชนิดเต็มข้อ

(Total Knee Arthroplasty)

 

          การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการผ่าตัดที่เข้ามาช่วยให้ประสบความสำเร็จ มีอายุข้อเข่าที่สามารถใช้งานที่ยาวนานมากกว่าเดิม รวมทั้งเทคนิคลดปวดขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพ ด้วยวิธีการฉีดยาชาเข้าไปที่กระดูกสันหลัง ร่วมกับฉีดยาชาในเส้นประสาทบริเวณต้นขา ช่วยให้ควบคุมระดับความปวดได้ 24 48 ชั่วโมง

 

ดังนั้นหลังผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมง ผู้ป่วยจึงสามารถกลับมาลงเดินเคลื่อนไหวได้โดยใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน   ใช้ระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 4 วัน และกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน ทั้งนี้เมื่อผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไปแล้วมีค่ามาตรฐานการใช้งานได้นานประมาณ 15 – 20 ปี หรือนานกว่านั้นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานและดูแลข้อเข่าของผู้ป่วยร่วมด้วย

ปวดเข่า


หลังผ่าตัดควรดูแลสุขภาพอย่างไร

หลังการผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และกลับมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการตามกำหนด เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานของข้อเข่าเทียมว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่  และควรงดเว้นการออกแรงหนักในช่วงพักฟื้น 1 เดือน และปฎิบัติตามคำแนะนำในการดูแลสุขภาพหลังผ่าตัด ได้แก่

1. การทานยาให้ครบตามกำหนด เพื่อควบคุมอาการปวด ในช่วง 1 เดือนแรก  อาทิ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาลดบวม
2. การประคบเย็น เพื่อลดกระบวนการอักเสบของข้อ ภายใน 1- 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด
3. การทำกายบริหาร เช่น การเดินโดยใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน (วอคเกอร์) การฝึกงอเหยียดเข่า เพื่อให้ระยะการเคลื่อนไหวของข้อเข่าฟื้นคืนการทำงานได้ดีขึ้น




บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ฐกฤต ชมภูแสง

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ชำนาญการด้านออร์โธปิดิกส์ ข้อเข่า และข้อสะโพกเทียม

โรงพยาบาลเปาโล เกษตร

 

สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114


Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset