การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด Low-Dose Chest CT Scan
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
04-พ.ย.-2565
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
Low-Dose Chest CT Scan


            โรคมะเร็งปอด พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทั้งหมด โดยโรคมะเร็งปอด (Lung cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง จากสถิติผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยโดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2563 และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของประชากรโลก

อาการเริ่มต้น ของมะเร็งปอด?
       
           ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ เมื่อมีอาการ หรือพบความผิดปกติจากการเอกซเรย์ปอดซึ่งอาจจะช้าเกินไปที่จะทำการรักษา ในขณะที่มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และมีแนวทางการตรวจคัดกรองในผู้ใหญ่ เพื่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที

           โรคมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการ และไม่มีข้อบ่งชี้ที่เป็นสัญญาณของโรคนี้ แต่เมื่อโรคลุกลามขึ้น อาจพบอาการดังต่อไปนี้ เช่น ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี๊ด เจ็บบริเวณหน้าอก น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยอาการข้างต้นอาจจะไม่เกี่ยวกับโรคมะเร็งปอดได้ เนื่องจากมีหลายโรคที่มีอาการเกี่ยวข้องกับอาการเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่ชัดเจน

มลภาวะ

ปัจจัยของเกิดมะเร็งปอด มีตัวอย่างดังนี้
  1. การสูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีควันบุหรี่
  2. มลภาวะทางอากาศ
  3. การสัมผัสสารก่อมะเร็ง โดยการหายใจ หรือ บริโภค
  4. บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง (กรรมพันธุ์)
 ซีทีสแกน

การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
Low-Dose Chest CT Scan

           
            ปัจจุบันมีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low-dose CT scan) ได้เป็นภาพวินิจฉัย 3 มิติ ซึ่งมีความแม่นยำกว่า การตรวจ X-ray ทรวงอก แบบธรรมดา และยังปลอดภัย เพราะใช้ปริมาณรังสีที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ CT Scan ปกติ

           จากการวิจัยของ National Lung Screening Trial (NLST) ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเมื่อตรวจคัดกรองในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงและมีอายุมากกว่า 50 ปี ด้วย Low-dose CT scan สามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งปอดได้ 15-20% เมื่อเทียบกับการตรวจคัดกรองด้วย X-ray ทรวงอกแบบธรรมดา


ใครบ้าง? ที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอด Low-dose CT Scan
  1. ผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และสูบบุหรี่จัด
  2. ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่แล้วแต่ หยุดสูบบุหรี่มาน้อยกว่า 15 ปี
  3. คนในครอบครัวสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่
  4. ผู้ทำงานใกล้ชิดสารเคมี หรือสารก่อมะเร็ง
  5. สมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด

วิธีการเตรียมตัวและการตรวจ
  1. ไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดอาหาร เพราะไม่ต้องฉีดสารทึบแสง
  2. นอนบนเตียงตรวจในเครื่อง CT scan ในท่านอนหงาย ชูแขนทั้งสองข้างเหนือศีรษะ
  3. กลั้นหายใจระหว่างการตรวจประมาณ 15-20 วินาที
  4. การตรวจใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 5-10 นาที บนเครื่อง CT scan เท่านั้น

พญ.ปารีณา สุวัฒนะพงศ์เชฏ

บทความโดย
พญ.ปารีณา สุวัฒนะพงศ์เชฏ
แพทย์ชำนาญการทางด้านรังสีวินิจฉัย
(Diagnostic Radiologist)
ด้านภาพวินิจฉัยขั้นสูงช่องท้องและระบบประสาท
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร

สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 

Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset