"นอนกรน" เรื่องกวน(หัว)ใจ! ปล่อยไว้...อาจเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต
โรงพยาบาลเปาโล
05-ก.พ.-2563

เคยรู้สึกรำคาญกับเสียงนอนกรนที่แสนดังสนั่นของคนข้างๆ บ้างไหม เราอยากจะบอกคุณว่า “อาการนอนกรน” เป็นสัญญาณของความผิดปกติของระบบการหายใจที่อาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตได้ เพราะฉะนั้น หากคนข้างๆ ของคุณชอบนอนกรน หรือตัวคุณเองที่นอนกรน มาประเมินเบื้องต้นดูหน่อยไหม... ว่าคุณอยู่ในระดับรุนแรงที่ควรไปพบแพทย์และต้องรักษาหรือเปล่า

ทำความเข้าใจ! ทำไมการนอนกรน...ถึงทำให้เสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจ” ได้

การนอนกรนอาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจโดยตรง แต่สามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อ “ภาวะทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นขณะหลับ” ซึ่งเป็นภาวะที่นำไปสู่โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้

ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเซมเมลไวส์ ประเทศฮังการี ที่พบว่า... คนที่นอนกรนเสียงดังและมีลักษณการหยุดหายใจเป็นพักๆ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 34% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีอาการนอนกรน

นอนกรนแบบไหน...เป็นสัญญาณเสี่ยง “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ”

  • ระดับเสียงของการกรนค่อนข้างดัง
  • สะดุ้งตื่นบ่อยๆ แต่ไม่รู้ตัว (แต่รู้ได้จากคำบอกเล่าของคนที่นอนด้วย)
  • ง่วงนอนมากในตอนกลางวัน และมักหลับโดยไมรู้ตัว
  • เมื่อตื่นนอนจะรู้สึกว่าริมฝีปากแห้งมาก เพราะอ้าปากหายใจขณะหลับ
  • ชอบปวดศีรษะในตอนเช้า และส่งผลต่อความจำ สมาธิสั้น ขาดสมาธิ
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย และซึมเศร้าง่าย

รู้ไหม? อาการนอนกรน...เป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคหัวใจ

ไม่เพียงแค่การนอนกรนอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต แต่ในผู้ป่วยโรคหัวใจเอง...ก็อาจมีอาการนอนกรนร่วมด้วยได้ ซึ่งจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงกว่าผู้ป่วยโรคหัวใจที่ไม่มีอาการนอนกรน เพราะฉะนั้น หากสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้ หรือคนข้างๆ ที่นอนด้วยบอกเล่าถึงลักษณะอาการนอนกรนที่เสียงดังจนผิดปกติ ไม่ว่าจะมีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่หรือไม่...ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง