ไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง...อาจนำไปสู่ 'มะเร็งตับ'
โรงพยาบาลเปาโล
12-ธ.ค.-2566

หลายคนคงคุ้นเคยหรือได้ยินคำว่า “ไวรัสตับอักเสบ” อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบบี ที่คนไทยถึง 3 ล้านคนมีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย เพียงแต่ว่ายังไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เพราะไวรัสตับอักเสบบีนั้นมีทั้งชนิดที่รุนแรงและชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกายไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติ ต่อเมื่อเชื้อเริ่มเพิ่มปริมาณ ตัวโรคก็จะพัฒนาไปจนแสดงอาการ แต่การแสดงอาการของโรคนั้น ก็มักเป็นในระยะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ คือกลายเป็นผู้ป่วยโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับในระยะลุกลามแล้วนั่นเอง

ใครก็เป็นพาหะของเชื้อ “ไวรัสตับอักเสบบี” ได้

เพราะไวรัสตับอักเสบบีจะอยู่ในสารคัดหลั่งและกระแสเลือดของผู้ที่มีเชื้อ จึงสามารถแพร่เชื้อได้ไม่ยาก แต่ช่องทางการแพร่เชื้อที่พบบ่อยที่สุดคือ ทางเพศสัมพันธ์ และการถ่ายทอดจากแม่ที่มีเชื้อสู่ทารก เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและแทรกตัวไปในเซลล์ตับ ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับเชื้อมักไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน แต่ในบางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด คลื่นไส้ อาเจียน ตับโต ตัวตาเหลืองได้ ซึ่งภูมิต้านทานในร่างกายก็จะพยายามกำจัดเชื้อให้หมดไป ในกรณีที่ไม่สามารถกำจัดได้หมดก็จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังต่อไป

ติดเชื้อต้องรักษา... หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็น “โรคตับแข็ง” หรือ “มะเร็งตับ”

ใครก็ตามที่ได้รับเชื้อแล้วหรือตรวจพบเจอเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ควรได้รับการรักษาและติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง แม้คนส่วนใหญ่จะไม่ได้มีอาการที่แสดงออกมาชัดเจนก็ตาม ดังนั้นหากมีโอกาสจึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรค เพราะจากการศึกษาติดตามผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีชนิดเรื้อรังเมื่อผ่าน 5 ปีไปแล้ว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม คนกลุ่มนี้มักจะกลายเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็งราวร้อยละ 8-20 โดยอาการที่พบคือ ตัวบวม ขาบวม ตัวเหลือง ตาเหลือง ซึม สับสน ซึ่งเป็นระยะที่ยากต่อการรักษา และมักเสียชีวิตด้วยภาวะตับวายในที่สุด และอีกส่วนหนึ่งมักตรวจพบว่ามีก้อนขนาดใหญ่ในตับ ซึ่งก็คือ...มะเร็งตับ นั่นเอง

แนวทางการรักษาที่แตกต่างกันในแต่ละราย

เพราะไวรัสตับอักเสบที่อยู่ในร่างกายของคนไข้แต่ละรายจะมีฤทธิ์หรือแสดงความรุนแรงไม่เท่ากัน บ้างก็เป็นไวรัสที่แบ่งตัวช้า บ้างก็เป็นไวรัสที่แบ่งตัวเร็ว แนวทางการรักษาจึงต้องพิจารณาดูว่าเชื้อมีการแบ่งตัวเพิ่มปริมาณมากน้อยเพียงใด และส่งผลกระทบต่อตับอย่างไร โอกาสที่จะทำให้เกิดตับอักเสบ ตับแข็ง หรือเป็นมะเร็งตับมากน้อยเพียงใด โดยปกติแพทย์จะให้ยาเพื่อลดปริมาณไวรัสตามความเหมาะสม และจะติดตามอาการของคนไข้โดยการตรวจเช็กระดับของไวรัสตับอักเสบบีเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงในการนำไปสู่การเป็นตับอักเสบ เกิดภาวะตับแข็ง หรือมะเร็งตับ การตรวจติดตามผลการรักษาอยู่เสมอ จะช่วยให้พบโรคเร็ว รักษาได้ทันท่วงที ดีกว่าปล่อยทิ้งไว้

ดูแลร่างกายให้แข็งแรง...ลดเสี่ยงโรคตับได้

นอกจากการเข้ารับการตรวจร่างกายและรักษาอย่างสม่ำเสมอแล้ว การดูแลตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ผู้ที่มีความเสี่ยงและมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทำลายตับ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การกินถั่วป่นซึ่งมักมีการปนเปื้อนเชื้อรา การกินยาบางชนิดที่ส่งผลต่อตับก็ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร เพราะทั้งหมดล้วนเป็นการช่วยให้ตับไม่ต้องทำงานหนัก เป็นการลดภาระตับ ช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินโรค ทั้งนี้... ผู้ที่ทราบว่าตนเองมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ ควรระมัดระวังเรื่องการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง