เช็กระดับกรดยูริค...สัญญาณเตือนเสี่ยงเก๊าต์
โรงพยาบาลเปาโล
09-เม.ย.-2567

เมื่อพูดถึงโรคเก๊าต์ เราคงคุ้นชินกับคำว่า “ห้ามกินไก่” แต่ในความเป็นจริงแล้ว การกินไก่หรือกินสัตว์ปีกไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการเกิดโรคเก๊าต์ เพราะยังมีอาหารอีกหลายอย่างที่กระตุ้นให้เกิดโรคเก๊าต์ได้ เช่น เครื่องในสัตว์ ยอดผัก กุ้งเล็กๆ (เคย) กะปิ ปลาซาร์ดีน หอยแมลงภู่  ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลฟรุกโตส อย่างไรก็ตาม กรดยูริคในเลือกที่สูงเกินมาตรฐานก็ไม่ทำให้เกิดโรคเก๊าต์เสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมและร่างกายของแต่ละบุคคล


กรรมพันธุ์และกรดยูริค สาเหตุการเกิดโรคเก๊าต์

โรคเก๊าต์ เป็นโรคที่เกิดจากการสะสมตัวของกรดยูริคในกระแสเลือดมากเกินไป โดยกรดยูริคจะได้จากการเผาผลาญสารพิวรีน (Purines) ซึ่งปกติร่างกายจะสามารถสังเคราะห์สารนี้เองได้ และจะขับกรดยูริคออกผ่านทางไตให้ทันต่อการสร้างใหม่ แต่หากได้รับสารพิวรีนมากเกินไปจนร่างกายได้รับกรดยูริคมากเกินไป หรือร่างกายขับกรดยูริคออกจากร่างกายได้น้อย ก็จะส่งผลให้เกิดเป็นโรคเก๊าต์ ทั้งนี้พบว่า ผู้ที่เป็นโรคเก๊าต์ถึง 1 ใน 5 จะมีคนในครอบครัวเป็นโรคเก๊าต์ด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่า พันธุกรรมมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเกิดโรค


วิธีรักษาโรคเก๊าต์

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ป่วยจะปวดรุนแรงในช่วง 4-12 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นอาการจะบรรเทาลง และหายไปเองภายใน 7-10 วัน แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก อาจปวดนานหลายสัปดาห์ หรือมีอาการเจ็บปวด บวมแดง แสบร้อน จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงนั้น แพทย์มักพิจารณาให้การรักษาด้วยการใช้ยาเป็นหลัก โดยดูจากอาการและสุขภาพโดยรวมจากการซักประวัติผู้ป่วย รวมถึงค่ากรดยูริคที่ตรวจวัดได้

การใช้ยาจะช่วยบรรเทาอาการปวดให้ลดลงอย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดของโรคเก๊าต์ในบริเวณข้ออื่นๆ รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรค เช่น โครงสร้างข้อต่อผิดรูป ไตเกิดความผิดปกติ

เป็นโรคเก๊าต์ ต้องระวังการสะสมของกรดยูริค และโรคไตแทรกซ้อน

สำหรับคนไข้ที่ตรวจพบว่ามีกรดยูริคสูง แต่ยังไม่มีอาการของโรคเก๊าต์ แพทย์จะแนะนำแนวทางในการดูแลตนเอง แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงมากหรือเป็นโรคเก๊าต์แล้ว การรักษาหรือการกินยาคือสิ่งจำเป็น เพราะหากไม่ได้รับการรักษา และมีการสะสมของกรดยูริคสูงขึ้นมาก อาจเกิดเป็นก้อนโทฟี่หรือปุ่มนูนใต้ผิวหนังตามข้อต่างๆ เช่น นิ้วมือ เท้า ข้อศอก หรือเอ็นร้อยหวาย ซึ่งถึงแม้ก้อนนี้จะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่หากอาการของโรคกำเริบเมื่อไหร่ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อและปวดตามข้ออย่างมาก จนถึงทำให้ข้อต่อบิดเบี้ยวผิดรูปและไม่หายไป นอกจากนี้ยังมีโอกาสเกิดนิ่วในไตจากการสะสมของผลึกยูเรตในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้การทำงานของไตผิดปกติหรือเกิดภาวะไตวายได้


ไม่อยากเป็น “โรคเก๊าต์” ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

แม้สาเหตุหลักของการเกิดโรคเก๊าต์จะเป็นเรื่องของพันธุกรรม แต่การกินอาหารก็มีส่วนเป็นอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิดโรค สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง สามารถดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคเก๊าต์ได้ ดังนี้
  • ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส
  • ลดการกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เช่น สัตว์ปีก โดยเฉพาะบริเวณข้อ เครื่องในสัตว์ ยอดผักต่างๆ สัตว์หรือพืชที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโต
  • กินอาหารที่มีวิตามินซีให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะ และไม่ทำให้เกิดการตกตะกอนในระบบทางเดินปัสสาวะที่อาจนำไปสู่การเกิดนิ่วในไต
  • พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่อ้วนจนเกินไป
  • หากต้องกินยาบางประเภทเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาเคมีบำบัดบางชนิด ยาแอสไพริน และยาลดความดันโลหิตบางชนิด
  • รักษาโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด โรคไต โรคเบาหวาน ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้

แม้... โรคเก๊าต์ จะรักษาได้ด้วยการกินยา แต่ก็เหมือนกับโรคอื่นๆ ที่การตรวจพบความเสี่ยงเร็วก็จะช่วยให้เกิดการป้องกันที่ดี หรือหากพบโรคเร็วก็สามารถลดการลุกลาม และไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดเพราะยังไม่มีการอักเสบตามข้อได้ ดังนั้นการตรวจสุขภาพที่มีการตรวจหาค่ากรดยูริคจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราสามารถป้องกัน หลีกเลี่ยงโรคเก๊าต์ หรือรักษาได้ทันก่อนลุกลาม