คลำพบก้อน รู้ได้ยังไง...ว่าใช่ "มะเร็งเต้านม"
โรงพยาบาลเปาโล
15-พ.ย.-2566

จากข้อมูลสถิติในปี 2558 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วโลกโดยเฉลี่ยประมาณ 6,255,000 ราย และในทุกๆ 1 นาที จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม 1 ราย นั่นเป็นเพราะผู้หญิงมักเข้าใจว่าเป็นมะเร็งเต้านมต้อง..คลำพบก้อน! ทั้งที่จริงๆ แล้ว ก้อนที่เต้านมอาจไม่ใช่เซลล์มะเร็งเสมอไป นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการตรวจคัดกรองมะเร็งถึงสำคัญ เพราะการคลำเต้านมเองอาจไม่ใช่วิธีการค้นหาเซลล์มะเร็งที่ดีที่สุด!

คลำพบก้อน..สัญญาณแรกของความผิดปกติ
โดยมากผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เพราะคลำพบก้อนในเต้านมหรือบริเวณรักแร้ แต่นอกจากการคลำพบก้อนแล้ว ยังมีความผิดปกติที่อาจแสดงเป็นอาการให้เห็น เช่น หัวนมบุ๋ม เป็นแผล มีน้ำเหลืองหรือของเหลวคล้ายเลือดไหลออกมา หรืออาจมีผื่นบริเวณหัวนม

“เจ็บเต้านม” อีกสัญญาณเตือนที่ผู้หญิงมักเข้าใจผิด
คนไข้บางรายเมื่อคลำพบก้อน..แต่ไม่อาการเจ็บเต้านม ก็เข้าใจว่าคงเป็นเพียงก้อนเนื้อธรรมดาไม่ร้ายแรง ทั้งที่จริงๆ แล้ว การคลำพบก้อนแต่ไม่มีอาการเจ็บเต้านมคือสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ในทางกลับกัน การคลำพบก้อนและมีอาการเจ็บเต้านมร่วมด้วย มักจะเกิดจากการซีสต์ที่เต้านม เนื่องจากก้อนซีสต์จะเปลี่ยนแปลงขนาดไปตามรอบเดือน..ทำให้มีอาการเจ็บเต้านมนั่นเอง

แต่!! คลำไม่พบก้อน…ก็ไม่ได้แปลว่าไม่เสี่ยง “มะเร็งเต้านม” นะ
แม้แต่แพทย์สูตินรีเวชเอง..การจะคลำพบก้อนได้นั้น ก้อนเนื้อต้องมีขนาดโตกว่า 1 เซนติเมตร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนธรรมดาทั่วไปจะคลำพบก้อนขนาดเล็กๆ ได้ โดยส่วนใหญ่..การคลำพบก้อนของผู้ป่วยจะพบในช่วงที่เซลล์มะเร็งเติบโตอยู่ในระยะที่ 2-3 แล้ว

แล้วแบบนี้...ใครบ้างที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
-  ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
-  ยังไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 35 ปี
-  คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่
-  มีรูปร่างอ้วน โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน
-  มีพฤติกรรมชอบดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารไขมันสูง และไม่ชอบออกกำลังกาย
-  มีประวัติการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน

อัลตร้าซาวด์ Vs แมมโมแกรม ต่างกันอย่างไร?
การตรวจแมมโมแกรม เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ให้ผลแม่นยำ โดยการตรวจแมมโมแกรมจะให้ผลการตรวจที่ละเอียดกว่าการอัลตร้าซาวด์ สามารถตรวจหามะเร็งเต้านมได้แม้จะยังคลำไม่พบก้อน แต่วิธีนี้จะนิยมใช้ในผู้หญิงช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป สำหรับผู้หญิงที่อายุยังน้อยจะเหมาะกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ เพราะสามารถวินิจฉัยก้อนในเต้านมได้ว่าเป็นถุงน้ำหรือก้อนเนื้อ เนื่องจากช่วงวัยนี้จะมีความเสี่ยงในการเกิดซีสต์ในเต้านมสูงกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีโอกาสเป็น..เพียงแค่พบการเกิดมะเร็งได้น้อย

รู้ไหม? ตรวจพบมะเร็งเต้านมเร็ว...เพิ่มโอกาสหายได้
เหตุผลสำคัญที่ทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมีความสำคัญ คือ หากแพทย์ตรวจพบเซลล์มะเร็งตั้งแต่ระยะแรกๆ คนไข้ก็จะยิ่งมีโอกาสหายจากโรคได้มากกว่าการตรวจเจอเซลล์มะเร็งในระยะลุกลามแล้ว โดยอัตราการหายจากมะเร็งเต้านมนั้น แบ่งได้ดังนี้..
- ผู้ป่วยระยะก่อนลุกลาม อัตราการอยู่รอด 10 ปีเกือบ 100%
- ระยะ 1 อัตราการอยู่รอด 5 ปี = 98%
- ระยะ 2 อัตราการอยู่รอด 5 ปี = 93%
- ระยะ 3 อัตราการอยู่รอด 5 ปี = 72%
- ระยะ 4 หรือระยะแพร่กระจาย  อัตราการอยู่รอด 5 ปี = 22%

แม้ว่าการตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำจะช่วยให้พบความผิดปกติเกี่ยวกับก้อนที่เต้านมได้ แต่ก็อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 35-40 ปี ควรมาตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกๆ 2 ปี และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรมาตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี…ปีละ 1 ครั้ง เพราะการตรวจแมมโมแกรม…คือการค้นหา “มะเร็งเต้านม” ที่แม่นยำกว่า