Do’s & Don’t...ถ้าคุณทำได้ ห่างไกลมะเร็งลำไส้ใหญ่แน่นอน
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
03-ธ.ค.-2561

Do’s & Don’t...ถ้าคุณทำได้ ห่างไกลมะเร็งลำไส้ใหญ่แน่นอน

มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งร้ายที่กลายเป็นโรคฮิตในยุคนี้แบบไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะในหมู่คนทำงานวัยกลางคน 40 อัพขึ้นไปนี่ล่ะ เพราะรู้ไหมว่านอกจากเรื่องของกรรมพันธุ์แล้ว สาเหตุใหญ่ของมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็คือพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตของเราเอง งั้นถ้าเราหยุดยั้ง ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ทำไมไม่รีบทำกันล่ะ มาดูว่า พฤติกรรมไหนต้องห้าม หรือควรทำเป็นนิสัยเพื่อห่างไกลโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ว่าจะวัยไหนก็ไม่กลัว


Don’t พฤติกรรมต้องเลี่ยง เสี่ยงมะเร็งลำไส้

- ไม่กินอาหารไขมันสูง หรืออาหารไหม้เกรียม โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ติดมัน ปิ้งย่าง ไม่ควรกินบ่อย ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยง เนื่องจากมีสารก่อมะเร็งกลุ่มไนโตรซามีน
- เลี่ยงอาหารประเภทหมักดอง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปอย่างกุนเชียง ไส้กรอก แฮม หรือไข่เยี่ยวม้า แหนม อาหารที่มีดินประสิวเป็นส่วนประกอบ เพราะเสี่ยงต่อสารปนเปื้อนสารก่อมะเร็งที่มีอยู่ในกระบวนการแปรรูป อย่างสารตะกั่ว เป็นต้น
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือลดปริมาณลง มีงานวิจัยในออสเตรเลียพบว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์เกิน 5 วันต่อสัปดาห์มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้มากกว่าคนที่ไม่ดื่มถึง 60%
- งดสูบบุหรี่ แน่นอนอยู่แล้วว่าสารก่อมะเร็งในบุหรี่จะเร่งให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ทุกชนิด ดังนั้นหากมีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ และยังสูบบุหรี่เป็นประจำ ยิ่งทำให้เกิดเซลล์มะเร็งเร็วขึ้นไปอีก

Do’s นิสัยควรทำเพื่อห่างไกลมะเร็งลำไส้

- กินอาหารกากใยสูง และไขมันต่ำ อย่างผักผลไม้ และอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการผลิตมากเกินไป เช่น เลือกกินขนมปังโฮลวีตหรือข้าวกล้อง แทนขนมปังขาว กินอาหารจำพวกธัญพืชเป็นประจำ เพราะช่วยเรื่องการขับถ่าย ลดคอเรสเตอรอล เมื่อระบบขับถ่ายทำงานได้ดี ก็ลดความเสี่ยงโรคทางลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ต้นตอ

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควบคุมน้ำหนักตัว เพราะนอกจากการมีน้ำหนักเกินจะเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหารและลำไส้ที่อาจเกิดเป็นมะเร็งทางเดินอาหารและลำไส้ในอนาคต ยังมีผลการวิจัยว่า การมีดัชนีมวลกาย หรือ BMI ที่เพิ่มสูงขึ้นทุก 5 kg/m2 จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ 25%

- สังเกตตัวเองและตรวจคัดกรองเป็นประจำ เพราะมะเร็งลำไส้เป็นหนึ่งในโรคที่กว่าจะแสดงอาการหรือตรวจพบก็เกิดขึ้นในระยะรุนแรงแล้ว ดังนั้นหากหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายเบื้องต้น เช่น อาการท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายมีเลือดปน ท้องอืด แน่นท้องผิดปกติ อุจจาระเป็นลำลีบเล็ก และเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี อาจจะพบโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือพบติ่งเนื้อที่ยังไม่พัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง จะรักษาได้ง่าย มีโอกาสหายสูงกว่า

สอบถามรายละเอียด

ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
โทร.02-514-4141 ต่อ 1210 – 1211