9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
20-เม.ย.-2566

เพราะการมีอีกหนึ่งชีวิตในร่างกายของเรา...ถือเป็นความมหัศจรรย์


การตั้งครรภ์
เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าสำหรับผู้หญิง เพราะการเริ่มมีอีกหนึ่งชีวิตในร่างกายของเราถือเป็นความมหัศจรรย์ ที่คุณแม่มือใหม่จะได้เรียนรู้พัฒนาการของทารกในครรภ์ ในแต่ละเดือน ทารกในครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย การที่คุณแม่ได้ทราบพัฒนาการของทารกในครรภ์จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อช่วยให้คุณแม่ปรับการใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

เดือนแรก – ปฏิสนธิ
ช่วงเดือนแรกสุดคือการที่ไข่ผสมกับสเปิร์ม และไข่ที่ได้รับการผสมจะค่อย ๆ เคลื่อนตัวจากท่อนำไข่ไปฝังตัวที่มดลูก จากนั้นเซลล์ก็จะเริ่มแบ่งตัวมากขึ้น โดยจะเจริญเติบโตเป็นตัวอ่อน ส่วนเนื้อเยื่อด้านนอกก็จะค่อย ๆ พัฒนาไปเป็นส่วนหนึ่งของรก ซึ่งเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการอยู่รอดของทารก

เดือนที่ 2 – พัฒนาการเบื้องต้น
เมื่อตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มเห็นพัฒนาการได้ชัดขึ้น เราจะเริ่มเห็นศีรษะทารกซึ่งจะใหญ่กว่าอวัยวะอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้า มือ หรือเท้า หากทำอัลตราซาวด์ตอนนี้ คุณแม่จะเห็นว่าตัวทารกขยับไปมา ได้เห็นหัวใจเล็ก ๆ เต้น ตุบ ๆ สายสะดือซึ่งทำหน้าที่เป็นปอดนำออกซิเจนจากแม่สู่ลูก เป็นสายที่นำอาหารมาเลี้ยงลูก ในช่วงนี้ทารกจะมีรูปร่างกลม ๆ ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร

เดือนที่ 3 – สมองและกล้ามเนื้อประสานกัน
เริ่มมีอวัยวะบนหน้าของทารกเกือบจะสมบูรณ์แล้ว เพียงแต่ตายังปิดอยู่เท่านั้น สมองและกล้ามเนื้อเริ่มทำงานประสานกัน กล้ามเนื้อกำลังพัฒนา จะเห็นได้ว่าแขนขาของทารกจะขยับไปมา ข้อต่าง ๆ เริ่มประสานกัน นิ้วมือและนิ้วเท้าพัฒนาจนสมบูรณ์แล้วจะงอได้ด้วย เล็บงอกยาว ทารกจะเริ่มมีการดูดนิ้วและกลืนน้ำคร่ำ หรือลอยตัวในน้ำคร่ำซึ่งทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องร่างกายเล็ก ๆ ไว้อย่างดี หลังจาก 3 เดือนแรกไปแล้ว อวัยวะของทารกจะเริ่มเป็นรูปร่างมีพัฒนาการ คุณแม่จะต้องระวังในช่วงนี้ อย่ารับประทานยาหรืออาหารที่อาจเป็นอันตราย ตอนนี้ทารกมีขนาดประมาณ 10 -12 เซนติเมตร

เดือนที่ 4 - ทราบเพศแล้ว ชายหรือหญิงนะ
ตอนนี้ทารกมีแขนและข้อต่อที่สมบูรณ์ กล้ามเนื้อแข็งแรง ทารกสามารถเคลื่อนไหวได้มากขึ้น สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจจะไม่รู้สึกว่าลูกดิ้น นอกจากนี้ผมจะเริ่มงอกทั่วร่างกาย แพทย์สามารถทำการอัลตราซาวด์ที่ท้องเพื่อฟังเสียงหัวใจของทารกได้ ไตเริ่มจะทำงานเหมือนกับผู้ใหญ่ ถ้าเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ จำนวนเส้นประสาทและกล้ามเนื้อจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ซึ่งระยะนี้ทารกจะมีการดิ้น เตะ ยืดนิ้วมือ นิ้วเท้า ร่างกายจะพัฒนาจนสามารถมองเห็นอวัยวะเพศทารกได้ถ้าตรวจด้วยอัลตราซาวด์ ตอนนี้ทารกจะมีขนาด 16 – 18 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 200 กรัม

เดือนที่ 5 – รับรู้โลกนอกครรภ์ ( รส กลิ่น เสียง )
ช่วงเดือนนี้ทารกจะโตเร็วมาก คุณแม่จะรู้สึกได้แล้วว่าลูกดิ้น เพราะกล้ามเนื้อของทารกแข็งแรงขึ้น ฟันเริ่มพัฒนาอยู่ใต้กราม ผมเริ่มงอก คิ้วและขนตาเริ่มพัฒนา นอกจากนี้ทารกจะเพิ่มการสัมผัสรับรู้ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรสชาติ กลิ่นและเสียง แม้ตาจะยังปิดอยู่ แต่ทารกจะสัมผัสถึงแสงจ้าได้ ได้ยินเสียงคุณแม่ และรู้สึกได้เมื่อมีการลูบท้องเบา ๆ ในช่วงปลายเดือนที่ 5 และลูกจะขับถ่ายปัสสาวะปนมาในน้ำคร่ำได้แล้ว

เดือนที่ 6 – การตอบสนองต่อสิ่งเร้า
ช่วงนี้ทารกจะโตช้าลงเล็กน้อย เพื่อให้อวัยวะภายในร่างกาย เช่น ปอด ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายพัฒนา ซึ่งในระยะนี้ทารกจะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระมากขึ้น อาจมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงหัวใจของคุณแม่ เสียงอื่น ๆ เช่น เสียงดนตรี ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่สามารถพูดคุยกับลูกได้ เพราะทารกจะได้ยินเสียงเราชัดเจน

เดือนที่ 7 – ลืมตาแล้ว
ในเดือนนี้ทารกจะเริ่มสะสมไขมันใต้ผิวหนังทั่วทั้งตัวเพื่อรักษาความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย รวมทั้งปกป้องผิวหนังจากของเหลวอื่น ๆ ปอดจะพัฒนา หนังตาเริ่มเปิด ตาจะมองเห็นแสงผ่านหน้าท้องของแม่ได้ ทารกจะขยับตัวเมื่อได้ยินเสียงดัง ๆ จังหวะการเต้นของหัวใจจะเปลี่ยนตามแสงและเสียงที่ทารกสัมผัสได้ นอกจากนี้จะเริ่มพัฒนาตุ่มรับรสด้วย ถ้ามีความจำเป็นต้องคลอดในปลายเดือนนี้ ทารกจะมีอัตรารอดค่อนข้างสูง เพราะอวัยวะสำคัญเริ่มทำงานเป็นปกติแล้ว

เดือนที่ 8 – เตรียมคลอด
ทารกจะดิ้นน้อยลง เนื่องจากตัวเริ่มใหญ่จนคับในครรภ์แม่ และเริ่มกลับตัว ศีรษะจะหันมาทางปากมดลูกเพื่อเตรียมคลอด ในช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บท้องเตือน  เนื่องจากมดลูกมีการบีบตัว เพื่อช่วยให้ทารกมีความพร้อมลงไปสู่ปากมดลูกที่ใกล้เปิดแล้ว

เดือนที่ 9 – เตรียมต้อนรับสมาชิกใหม่
ในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทารกจะอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอด เล็บจะยาวขึ้นเพื่อปกป้องปลายนิ้ว ศีรษะจะอยู่ใกล้ปากมดลูก และคุณแม่ก็พร้อมจะคลอดได้ทุกเมื่อ ส่วนใหญ่แล้ว คุณแม่จะคลอดประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ก่อนครบกำหนด (สัปดาห์ที่ 40)

ตลอดระยะเวลา 9 เดือน เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น คุณแม่ควรจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงระหว่างตั้งครรภ์และไปตรวจครรภ์ตามกำหนดเพื่อติดตามดูพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างละเอียด  ส่วนในช่วงเดือนที่ 9 คุณแม่จะต้องสังเกตตัวเองว่ามีข้อบ่งชี้หรือสัญญาณเตือนที่จะคลอดลูกหรือไม่ และเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอดลูกน้อย


🔹บทความสุขภาพ🔹
➮ คัดกรองความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์
➮ ฝากครรภ์ เรื่องสำคัญที่คุณแม่ต้องใส่ใจ
➮ อาการท้องผูกในเด็ก
➮ พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5420 , 5421
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset