ไมเกรน...อาการปวดหัวที่ตัวเราเลี่ยงได้
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
30-ก.ค.-2567

ไมเกรน...อาการปวดหัวที่ตัวเราเลี่ยงได้

อาการปวดหัวตุ้บๆ หรือปวดหัวข้างเดียว เป็นสิ่งที่สร้างความรำคาญให้กับผู้ที่เป็นมันอยู่ไม่น้อย ซึ่งอาการเหล่านี้ถูกเรียก “ไมเกรน” สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และแต่ละคนก็ได้รับสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในวัยทำงาน และในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า แต่เพราะอะไร? เรามาทำความเข้าใจกัน!

 


ทำความรู้จักกับ “ไมเกรน”

ไมเกรน (Migraine) เป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ทำให้ก้านสมองหรือเซลล์สมองทำงานผิดปกติ โดยมีลักษณะอาการที่สังเกตได้ชัดเจน คือ มีอาการปวดหัวหรือปวดขมับข้างเดียว ปวดทั้ง 2 ข้าง หรือปวดหัวสลับข้างกัน จะมีอาการปวดเป็นพักๆ และจะมาแบบเป็นๆ หายๆ ซึ่งมักจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้

 

อาการแสดงของโรคที่เรียกว่า “ไมเกรน”

อาการของโรคไมเกรนจะมีลักษณะอาการที่สังเกตได้ ดังนี้

ปวดศีรษะ : ปวดรุนแรงหรือปวดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ โดยปวดตุบๆ เพียงข้างเดียวของศีรษะหรือทั้ง 2 ข้าง ในบางรายอาจมีอาการปวดเบ้าตา

ไวต่อแสงและเสียง : แพ้แสงและเสียงรอบข้าง

การมองเห็นผิดปกติ : มองเห็นเป็นภาพซ้อนหรือแสงกระพริบสีขาว

คลื่นไส้และอาเจียน : อาจมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย

อาการเหล่านี้แม้ฟังดูแล้วอาจไม่มีความรุนแรงมากนัก แต่ก็สามารถสร้างความรำคาญ และอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ที่เป็นไมเกรนได้

 


ปวดหัวข้างเดียว อาจไม่ใช่แค่ไมเกรน!

              แม้ว่าอาการปวดหัวข้างเดียวจะเป็นเหมือนอาการแสดงหลักที่บ่งบอกถึงโรคไมเกรน แต่ก็ไม่เสมอไป เนื่องจากโรคไมเกรนสามารถปวดหัวได้ทั้งข้างเดียวหรือได้ทั้ง 2 ข้าง หรือปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งแล้วสลับไปอีกข้างได้เช่นกัน

อีกทั้งอาการปวดหัวข้างเดียว อาจเป็นอาการของโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายเคียง เช่น เป็นเนื้องอกที่สมอง กล้ามเนื้อตึงตัว นอนตกหมอน หรือได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะได้

 

สาเหตุของการเกิดอาการปวดหัวไมเกรน

สาเหตุของการเป็นไมเกรน อาจเกิดได้จากหลายปัจจัยที่กระตุ้นให้สมองทำงานผิดปกติจนเกิดอาการปวดหัวไมเกรน โดยสาเหตุหลักๆ อาจเกิดจากปัจจัยดังนี้

  • ความเครียด
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการอดนอน
  • อยู่ในที่ที่มีแสงสว่างจ้า หรือมีไฟกระพริบ
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • อาหารที่ใส่ผงชูรสหรือสารถนอมอาหาร
  • การได้กลิ่นบางกลิ่นที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน
  • อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง เช่น เย็นเกินไป ร้อนเกินไป หรืออากาศที่ร้อนชื้น
  • ฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) จะมีผลกระตุ้นต่อเมื่อระดับของฮอร์โมนลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่หลังจากคลอดบุตรแล้ว ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้ง่าย

             อาการปวดหัวไมเกรนอาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นเหล่านี้แตกต่างกันไป ดังนั้นหากรู้ว่าสิ่งไหนสามารถกระตุ้นอาการปวดหัวให้กำเริบ ก็ควรหลีกเลี่ยงให้ห่างจากสิ่งนั้น

 


หากเป็นไมเกรน การรักษาทำได้โดย...

ส่วนใหญ่การรักษาอาการปวดหัวไมเกรน จะรักษาเพื่อบรรเทาอาการและลดโอกาสของการเกิดอาการปวดหัวไมเกรน เนื่องจากไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการรักษาจะต้องพิจารณาจากระดับความรุนแรงของอาการปวดหัว จากนั้นแพทย์จะให้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด แต่หากทานยาบ่อยครั้ง อาจทำให้อาการปวดหัวรุนแรงและถี่ขึ้นได้ ซึ่งอาจต้องใช้ยาป้องกันไมเกรน ร่วมกับใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นเข้ามาช่วย เช่น การฉีดยาระงับการทำงานของเส้นประสาทเฉพาะที่ การนวดกดจุด หรือการฝังเข็ม เป็นต้น

 

หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น...หยุดอาการปวดหัวไมเกรน

จะเห็นได้ว่าการหลีกเลี่ยงจากอาการปวดหัวไมเกรนที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ปวดหัวไมเกรน โดยการลดสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้เกิดอาการปวดเหล่านี้...

  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน เช่น ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ไม่อยู่ในที่ที่มีแสงจ้าเกินไปหรือมีไฟกระพริบ หรือกลิ่นที่ฉุนเฉียว
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และควรนอนให้เป็นเวลา
  • จัดการกับความเครียดหรือความกังวลใจ
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ และทานอาหารให้ตรงเวลา
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • งดการใช้ฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด

นอกจากนี้การหมั่นสังเกตปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นการกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนก็สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เราเกิดอาการปวดหัว

 

เพียงแค่นี้ หากเรารู้เท่าทันอาการปวดหัวที่เรียกว่า “ไมเกรน” ก็จะสามารถรับมือกับมันและป้องกันตัวเองก่อนที่จะเกิดอาการปวดหัว ซึ่งจะรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่หากมีอาการปวดหัวรุนแรงหรือเป็นอยู่เรื่อยๆ บ่อยครั้ง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn