ไขมันพอกตับ ตับแข็ง ลดเสี่ยงด้วยการตรวจและปรับพฤติกรรม
โรงพยาบาลเปาโล
05-ก.พ.-2563

ตับนับเป็นอวัยวะสำคัญและถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาอวัยวะภายใน ตับของคนเราจะอยู่ใต้ชายโครงขวา มีหน้าที่หลักๆ คือการสร้างน้ำดีเพื่อการช่วยย่อยอาหารประเภทไขมัน และทำลายสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย พร้อมกับช่วยกรองของเสียให้เป็นของดีเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อใดก็ตามที่ตับเกิดโรคหรือมีปัญหา เช่น มีไขมันพอกตับ ติดเชื้อไว้รัสตับอักเสบ ตับแข็ง ร่างกายส่วนอื่นๆ ก็จะแย่ไปด้วยทั้งระบบ

สารพัดโรคร้ายทำลายตับ

โรคที่เกิดขึ้นกับตับที่พบบ่อยจนเราคุ้นหู ก็คือโรค “ตับอักเสบ” ซึ่งสาเหตุหลักๆ จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และโรค “ตับแข็ง” ซึ่งเกิดจากการมี “ไขมันพอกตับ” จนทำให้เกิดเนื้อเยื่อแข็งมาสะสมแทนที่เซลล์ตับที่เสียไป หรือเกิดจากภาวะพิษสุราเรื้อรัง เชื้อไวรัส และการได้รับสารพิษต่างๆ สะสมในร่างกาย ผู้ป่วยโรคตับมักจะไม่มีอาการที่ชัดเจนจึงไม่ค่อยรู้ตัวว่ากำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือเกิดโรคแล้ว คนไข้ที่ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพตับเป็นประจำจึงมักเข้ามาพบแพทย์เมื่อมีอาการลุกลามหรือเป็นหนักมากแล้ว

“ไขมันพอกตับ” นำไปสู่โรค “ตับแข็ง”

การที่จะมีไขมันไปพอกตับนั้น เกิดได้ทั้งกับผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ แต่มีความผิดปกติในระบบเผาผลาญ เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือมีไขมันในเลือดสูง จนทำให้ไขมันไปสะสมอยู่ที่ตับเกินกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ แบบนี้ถือว่าเข้าสู่การเป็นโรคไขมันพอกตับแล้ว

เมื่อไขมันไปพอกตับมากๆ เข้าก็ทำให้ตับอักเสบหรือเซลล์ตับตาย จนนำไปสู่การเกิดพังผืดที่ตับ และกลายเป็นคนไข้โรคตับแข็งในที่สุด เมื่อคนไข้มีภาวะตับแข็งแล้วแพทย์จะรักษาด้วยการควบคุมอาการและช่วยไขมันในตับลดน้อยลงเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่จะไม่หายขาด

ก่อนจะเป็น “ตับแข็ง” หรือ “มะเร็งตับ”

  • ระยะแรก เริ่มจากการเกิดไขมันสะสมในเนื้อตับ แต่ยังไม่มีอาการ หรือการอักเสบเกิดขึ้นภายในตับ
  • ระยะที่สอง เมื่อมีไขมันสะสมอย่างต่อเนื่องที่ตับ ตับจะเริ่มเข้าสู่ภาวะอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รักษาหรือรักษาไม่หายก็มีก็มีโอกาสจะกลายเป็น “ตับอักเสบเรื้อรัง”
  • ระยะที่สาม เมื่อโรคลุกลามหรือเป็นเรื้อรังจะเกิดภาวะการอักเสบรุนแรงขึ้น หรือเกิดพังผืดสะสมไปเรื่อยๆ เซลล์ตับจะค่อยๆ ถูกทำลาย
  • ระยะที่สี่ เมื่อเซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้นๆ ตับจะทำงานไม่ได้เพราะเกิดภาวะ “ตับแข็ง” และอาจลุกลามจนเป็น “มะเร็งตับ” ในที่สุด

ไม่อยากเป็น “ตับแข็ง” หรือ “ไขมันพอกตับ” ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ผู้ที่มีความเสี่ยงประเภทน้ำหนักตัวเกิน ชอบปาร์ตี้ ดื่มกินหนักๆ ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ถ้าไม่อยากเป็นโรคไขมันพอกตับ จนนำไปสู่โรคตับแข็ง ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ สิ่งที่แพทย์แนะนำนั้นก็ทำได้ไม่ยาก เช่น

  • เลิกสูบบุหรี่ หรือไม่อยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่
  • เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ จิบน้ำบ่อยๆ
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ ลดการกินของหวาน ของมัน
  • ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 160 นาที
  • ระวังเรื่องน้ำหนักตัวอย่าให้เกินมาตรฐาน
  • ขับถ่ายเป็นประจำ ระวังอย่าให้ท้องผูก
  • หากมียาที่ต้องกินประจำควรปรึกษาแพทย์
  • รักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ให้อยู่ในภาวะที่ปกติที่สุด