กระดูกพรุนรู้ได้...ด้วยการตรวจมวลกระดูก
โรงพยาบาลเปาโล
09-เม.ย.-2567

ภาวะกระดูกพรุน เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องพึงระวัง เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายที่เคยซ่อมแซมและเสริมสร้างมวลกระดูกได้ดีนั้นจะทำได้ไม่ทันกับการสูญเสียไป ซึ่งความหนาแน่นของมวลกระดูกสูงสุดจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 30 ปี จากนั้นจะค่อยๆ ลดลง จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงมักมี ‘ภาวะกระดูกพรุน’ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ

หัวข้อที่น่าสนใจ

  • ภาวะ “กระดกพรุน” คืออะไร?

  • กระดูกพรุน ใครว่าไม่อันตราย

  • กระดูกพรุน รู้ได้ด้วยการ “ตรวจมวลกระดูก”

  • การตรวจมวลกระดูก หรือ การตรวจดูความหนาแน่นของกระดูก (Bone densitometry)

  • ขั้นตอนการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก

  • ใครบ้างที่ควรตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก?

  • ป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลกระดูกพรุน?


ภาวะ “กระดกพรุน” คืออะไร?
“กระดูกพรุน” เป็นภาวะที่เกิดจากการสลายตัวของมวลกระดูก ทำให้กระดูกมีโครงสร้างภายในที่เปลี่ยนไป ความแข็งแรงลดลด มีความเปราะบาง จึงทำให้แตกหักง่ายเพียงแค่มีแรงกระแทก เช่น การสะบัดมือทำให้ข้อมือหัก การบิดตัวผิดจังหวะหรือลื่นล้มก็ทำให้กระดูกสันหลังหรือกระดูกสะโพกหัก ซึ่งภาวะกระดูกพรุนนี้จะไม่ส่งสัญญาณใดๆ คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อกระดูกหัก หรือกระดูกทรุดจนทำให้ตัวเตี้ยลงอย่างชัดเจน

กระดูกพรุน ใครว่าไม่อันตราย
เพราะผู้ป่วยกระดูกพรุน กระดูกจะหักง่ายกว่าคนทั่วไป จึงเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง จากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งหากเคยกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนครั้งแรกแล้ว จะยิ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดกระดูกหักครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ตามมา ซึ่งอาจนำมาซึ่งความพิการและการเสียชีวิตได้

กระดูกพรุน รู้ได้ด้วยการ “ตรวจมวลกระดูก”
จากสถิติจะพบว่า 1 ใน 2 ของผู้หญิง และ 1 ใน 5 ของผู้ชาย ที่อายุมากกว่า 50 ปี จะเกิดภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งการเสื่อมสลายของเนื้อกระดูกจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่มีอาการบ่งชี้ ไร้สัญญาณเตือน วิธีที่ดีที่สุดที่จะรู้ได้ว่าคุณกำลังเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด คือ “การตรวจมวลกระดูก”

การตรวจมวลกระดูก หรือ การตรวจดูความหนาแน่นของกระดูก (Bone densitometry)
เป็นวิธีการตรวจที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะจะช่วยให้ทราบว่ากระดูกมีมวลและมีความแข็งแรงในระดับใด มีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ การตรวจมวลกระดูกจะใช้การ X-ray ที่เป็นรังสีพลังงานต่ำเพื่อสะท้อนภาพเนื้อเยื่อกระดูก ซึ่งจะทราบผลการตรวจอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีความปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงใดจากรังสี

ขั้นตอนการตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก
ผู้เข้ารับการตรวจสามารถทานอาหารและดื่มน้ำก่อนเข้ารับการตรวจได้ตามปกติ เมื่อพร้อมแล้วจะต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ และถอดเครื่องประดับทุกชิ้นทุกชนิดออกจากร่างกาย ในกรณีที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ใส่เหล็กดามกระดูก ใส่ข้อสะโพกเทียม หรือใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการตรวจ การตรวจนั้นจะต้องนอนราบลงเป็นเตียงตรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะช่วยจัดตำแหน่งร่างกายให้เหมาะสม แล้วเริ่มเดินเครื่องฉาย X-ray ซึ่งจะใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น

ใครบ้างที่ควรตรวจความหนาแน่นมวลกระดูก?

  • สตรีหลังวัยหมดประจำเดือน

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน

  • ผู้ที่มีรูปร่างผอม ยิ่งผอมมากยิ่งเสี่ยงมาก

  • ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์ (Steroid) ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

  • ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สูบบุหรี่จัด ชอบดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลม รวมทั้งผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย


ป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลกระดูกพรุน?

  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เสริมอาหารที่ให้แคลเซียมสูง เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม

  • กินอาหารที่มีวิตามินดี เพื่อช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมมีประสิทธิภาพ

  • ออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง อาจเลือกเป็นการวิ่งถ้าร่างกายยังไหว หรือเลือกเป็นการเดินเร็วสำหรับผู้สูงอายุ

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่

  • ตรวจสุขภาพและตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกอย่างน้อยปีละครั้ง