การตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดแดง (ABI)
โรงพยาบาลเปาโล
28-เม.ย.-2566

การตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดแดง (ABI) คืออะไร?

ABI (Ankle Brachial Blood Pressure Index) เป็นการตรวจวัดโดยเทียบสัดส่วนแรงดันโลหิตของหลอดเลือดแดงที่ข้อเท้า (Ankle) กับแรงดันโลหิตของหลอดเลือดแดงที่ข้อแขน (Brachial artery) ในข้างเดียวกัน คือ ขาขวาเทียบกับแขนขวา และขาซ้ายเทียบกับแขนซ้าย เพื่อประเมินภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็งหรือตีบ (Peripheral Arterial Disease)

ซึ่งการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงมักเริ่มจากการมีไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดจนทำให้เกิดกระบวนการอักเสบ เกิดพังผืด และมีแคลเซียมเกาะสะสม หรือมีลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้นจนหลอดเลือดแดงตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณขาและเท้าไม่เพียงพอ พบมากในผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหลอดเลือดสมองตีบ เพราะจะมีหลอดเลือดแดงผิดปกติในลักษณะเดียวกัน รวมถึงพบมากในผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 

ใครบ้างที่ควรตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดแดง (ABI) ?

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจ ABI คือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ดังนี้

  • อายุ 50 ปีขึ้นไป

  • ผู้ที่มีความเสี่ยง เป็นโรคหรือมีภาวะต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง มีความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ หรือเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบก่อนวัยอันควร

  • ผู้ที่มีระดับของสารโฮโมซีสทีน (Homocysteine) หรือ ไลโพโปรตีน (Lipoprotein) สูง

  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัดหรือสูบบุหรี่มานานเกิน 10 ปี และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ

  • ผู้ป่วยติดเตียง


ขั้นตอนการตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดแดง (ABI)

ผู้เข้ารับการตรวจ ABI จะอยู่ในท่านอนหงายบนเตียง หนุนหมอน แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะใช้อุปกรณ์วัดความดันพันรอบบริเวณข้อเท้าและข้อแขนทั้งสองข้าง ลักษณะเหมือนการตรวจวัดความดันโลหิตทั่วไป โดยไม่มีความเสี่ยงหรือได้รับความเจ็บปวดในขณะตรวจ


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดแดง (ABI)

  • สามารถเข้ารับการตรวจได้โดยไม่ต้องงดน้ำหรืออาหาร และไม่ต้องงดยาใดๆ 

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นในวันตรวจ


การแปรผลและการประเมินผลตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดแดง (ABI)

การแปรผลการตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดแดง ABI แพทย์จะวินิจฉัยจากค่าสัดส่วนของการวัดเส้นเลือดที่ข้อเท้า (Ankle ratio) กับข้อแขน (Brachial ratio) โดยมีเกณฑ์ดังนี้

  • > 0.9 หมายถึงการไหลเวียนของเลือดส่วนปลายขาปกติ

  • < หรือ = 0.9 หมายถึงการไหลเวียนของเลือดส่วนปลายขามีปัญหา โดยค่ายิ่งน้อยหมายถึงการอุดตันของเส้นเลือดส่วนปลายยิ่งมาก และอาจมีหลายจุด

  • < 0.6 มีการตีบของหลอดเลือดและมีอาการขาดเลือดที่ขา

  • < 0.3 มีการตีบของหลอดเลือดที่ขาขั้นรุนแรง ต้องทำการรักษาทันที

  • < 0.26 มีอาการปวดขาจากอาการเส้นเลือดตีบ

  • < 0.2 มีการตายของเซลล์ในเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณช่วงขาที่เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงจากภาวะเส้นเลือดตีบ


ทั้งนี้ การแข็งตัวของเลือดแดงที่ขา หรือภาวะหลอดเลือดแดงที่ขาตีบมักเกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และการดำเนินโรคมักเป็นแบบเรื้อรังค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้ป่วยขาดความใส่ใจ จนเมื่อหลอดเลือดแดงตีบเกินกว่า 70-80% จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดขา แผลหายยาก มีเนื้อตายสีดำที่เท้าจนอาจต้องถูกตัดเท้าทิ้ง ในบางกรณีอาจมีอาการแบบเฉียบพลันจนต้องรักษาด้วยการตัดขาส่วนที่เสียหายออก กลายเป็นผู้พิการ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายมากขึ้น 4-5 เท่า และโรคสมองขาดเลือด 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดแดงที่ขาตีบ

ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะเสี่ยง ควรได้รับการตรวจประเมินการไหลเวียนของเลือดที่บริเวณปลายขาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดแผลและการสูญเสียนิ้วเท้า เท้าและขาได้ด้วย