ปวดท้องประจำเดือนบ่อยๆ…สัญญาณความผิดปกติที่ควรพบแพทย์
โรงพยาบาลเปาโล
06-ก.ค.-2566

อาการปวดท้องประจำเดือนเล็กน้อยที่ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกตินับเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะเมื่อมีไข่ตกแต่ไม่เกิดการปฏิสนธิ ก็จะเกิดการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกเพื่อขับเนื้อเยื่อภายในโพรงมดลูกออกมาเป็นประจำเดือนนั่นเอง 


หัวข้อที่น่าสนใจ

  • ปวดประจำเดือนปกติกับไม่ปกติต่างกันอย่างไร? 

  • ปวดประจำเดือนมากหรือเรื้อรัง เสี่ยงโรคอะไรได้บ้าง?

  • สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ปวดประจำเดือนรุนแรงหรือเรื้อรัง

  • ปวดประจำเดือนแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์?

  • วิธีตรวจหาสาเหตุอาการปวดท้องประจำเดือน


ปวดประจำเดือนปกติกับไม่ปกติต่างกันอย่างไร? 

ในทางการแพทย์ มีการแบ่งอาการปวดประจำเดือนออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea)

มักเกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ในปริมาณที่มากเกินไปในวันแรกๆ ของการมีประจำเดือน เพื่อให้มดลูกมีการหดเกร็งและขับประจำเดือนออกมา จึงทำให้รู้สึกปวดท้องน้อย โดยระดับโพรสตาแกลนดินส์จะลดลงเมื่อร่างกายได้ขับเอาเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาแล้ว การเกร็งตัวของมดลูกและอาการปวดจึงลดลงด้วย ซึ่งหากอาการปวดไม่รุนแรงมากก็ยังถือว่าเป็นการปวดประจำเดือนแบบปกติ

  1. ปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) 

เกิดจากภาวะผิดปกติของมดลูก ท่อรังไข่ หรือส่วนอื่นๆ ในอวัยวะสืบพันธุ์ ไม่ว่าจะเพิ่งเป็นหรือเป็นมาแต่กำเนิด เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก ปากมดลูกตีบ ซึ่งมักทำให้มีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ประจำเดือนมามากและนานผิดปกติ หรือมากะปริบกะปรอย และเป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะการมีบุตรยาก ซึ่งการปวดประจำเดือนที่ผิดปกติแบบนี้ จะรู้ได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดก็ต่อเมื่อได้รับการตรวจวินิจฉัย


ปวดประจำเดือนมากหรือเรื้อรัง เสี่ยงโรคอะไรได้บ้าง?

กรณีปวดประจำเดือนรุนแรงหรือเรื้อรังติดต่อกันหลายเดือน อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเหล่านี้


  1. ช็อกโกแลตซีสต์ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

ช็อกโกแลตซีสต์ (chocolate cyst) เป็นถุงน้ำที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งหากเกิดผิดที่ เช่น เกิดอยู่ในรังไข่ หรือเยื่อบุช่องท้องน้อยก็จะทำให้ถุงน้ำไม่มีทางระบายออก เพราะไม่ได้หลุดลอกออกมากับเยื่อบุโพรงมดลูกขณะมีประจำเดือน จนเกิดการสะสมเป็นเลือดคั่งและมีสีคล้ายช็อกโกแลต ซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองในท้องน้อย มีอาการปวดท้องประจำเดือนที่มากขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดพังผืดในช่องท้อง ทำให้ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดท้องขณะมีเพศสัมพันธ์ และยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการมีบุตรยากอีกด้วย

  1. เนื้องอกมดลูกชนิดใต้เยื่อบุโพรงมดลูก (Submucous myoma)

ส่วนใหญ่แล้วเนื้องอกมดลูกกว่า 80% มักเป็นชนิดที่ไม่ร้ายแรง สามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งเนื้องอกชนิดใต้เยื่อบุโพรงมดลูกจะทำให้พื้นผิวในโพรงมดลูกขรุขระ มดลูกจึงมีการบีบตัวมากขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากพยายามกำจัดเนื้องอกซึ่งเป็นสิ่งกีดขวางการหดรัดของโพรงมดลูกในการขับประจำเดือนออกมา จึงทำให้ปวดท้องประจำเดือนมากขึ้น

  1. พังผืดในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Adhesion)

พังผืดในอุ้งเชิงกรานจะพบมากในบริเวณท่อนำไข่ ปีกมดลูก และด้านหลังของมดลูก ซึ่งเกิดได้ทั้งจากการอักเสบจากการติดเชื้อ หรือแบบไม่ติดเชื้อที่เกิดจากการมีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่แล้วเกิดการอักเสบ ส่วนการผ่าตัดคลอดก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลที่มดลูกและผนังหน้าท้อง ซึ่งร่างกายจะมีการซ่อมแซมเซลล์จนกลายเป็นพังผืด และพังผืดเหล่านี้ทำให้เกิดการดึงรั้งมดลูกขณะที่มดลูกบีบตัวเพื่อขับประจำเดือนออกมา ทำให้ปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ

  1. ปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis)

ภาวะปากมดลูกตีบ ปากมดลูกแคบเกินไป และมดลูกมีบาดแผลหรือฉีดขาดจากการขูดมดลูก รวมถึงการฉายรังสีรักษามะเร็งก็ทำให้ปากมดลูกเกิดพังผืดปิดกั้นรูเปิดได้ ส่งผลให้เลือดประจำเดือนไหลไม่สะดวก จึงเกิดการคั่งของของเหลวภายในมดลูก มดลูกจึงบีบตัวแรงขึ้นเพื่อกำจัดของเหลวเหล่านั้น ทำให้ปวดประจำเดือนมากกว่าปกติ

  1. ความผิดปกติทางกายภาพในอวัยวะสืบพันธุ์ (Obstructive malformation of the genital tract)

โครงสร้างที่ผิดปกติของอวัยวะภายในอาจทำให้ประจำเดือนไหลออกมาได้ไม่ดี ทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูกมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องประจำเดือนที่ผิดปกติ 


สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ปวดประจำเดือนรุนแรงหรือเรื้อรัง

สาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงเรื้อรังได้ เช่น

  • การใช้ห่วงอนามัยคุมกำเนิดทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น หรือทำให้เกิดพังผืดในมดลูก

  • ภาวะเนื้องอกรังไข่ หรือเนื้องอกมดลูก

  • อุ้งเชิงกรานอักเสบ หรือปีกมดลูกอักเสบ

  • ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือไส้ติ่งอักเสบ

  • ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อและเกิดการอักเสบ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

  • นิ่วในท่อไต

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ท้องนอกมดลูก

  

ปวดประจำเดือนแบบไหน ที่ควรไปพบแพทย์?

  • ปวดประจำเดือนมากกว่าที่เคย และปวดรุนแรงขึ้นทุกเดือน หรือปวดรุนแรงมากในช่วง 1-2 วันแรกของการมีประจำเดือน

  • ในแต่ละวันต้องทานยาแก้ปวดมากกว่า 1 ครั้ง หรือเคยต้องฉีดยาแก้ปวดมากกว่า 1 ครั้ง

  • ปวดประจำเดือนมากจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถลุกจากที่นอนได้ ไปทำงานหรือไปเรียนไม่ไหว 

  • ปวดประจำเดือนพร้อมกับมีไข้

  • ปวดประจำเดือนและมีตกขาวผิดปกติ

  • ประจำเดือนมามากกว่าปกติ ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง หรือมาเกิน 1 ครั้งใน 1 เดือน

  • ประจำเดือนมามากกว่า 80 ml. ต่อรอบเดือน

  • ปวดประจำเดือนและรู้สึกมวนท้องอยากถ่ายอุจจาระ แต่พอไปถ่ายกลับไม่มีอุจจาระออกมา

  • ปวดประจำเดือนมากร่วมกับมีเลือดออกกะปริบกะปรอย

  • ปวดและกดเจ็บบริเวณท้องน้อย หรือรู้สึกปวดร้าวลงมาที่ช่องคลอดข้างที่กด หรือปวดร้าวไปที่ขา

อย่างไรก็ตาม ในรายที่ปวดประจำเดือนไม่มาก แต่ปวดเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องทุกเดือน ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจที่จะปรึกษาแพทย์เช่นกัน


วิธีตรวจหาสาเหตุอาการปวดท้องประจำเดือน

การตรวจคัดกรองเพื่อหาสาเหตุของอาการปวดประจำเดือน ทำได้หลายวิธีเช่น 

  • การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง

  • การอัลตร้าซาวด์มดลูกและรังไข่

  • การตรวจภายในโดยสูตินรีแพทย์

กรณีพบความผิดปกติหรือรอยโรคในบริเวณใด แพทย์จะวางแผนการรักษา เช่น อาจมีการตรวจเพิ่มเติมโดยการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการ หรือเริ่มรักษาตามอาการและติดตามผลไประยะหนึ่งก่อน ส่วนการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดเนื้องอกมดลูกหรือรังไข่ ปัจจุบันมีการผ่าตัดส่องกล้องที่ได้ผลดี ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะมีเพียงแผลเล็กๆ ขนาด 1-2 ซม. หรือการผ่าตัดผ่านทางช่องคลอดก็จะไม่ทำให้เกิดแผลภายนอกเลย หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะฟื้นตัวไว อาจนอนโรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ก็กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

ดังนั้น ใครก็ตามที่มีอาการปวดท้องประจำเดือนผิดปกติ ปวดมาก ปวดเรื้อรัง หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี รวมถึงการผ่าตัดก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องกลัวหรือกังวลใจในเรื่องความเจ็บปวด ระยะเวลาการพักฟื้น หรือแผลเป็นขนาดใหญ่เหมือนในสมัยก่อน แต่สิ่งที่ได้คือการหายจากโรคนั่นเอง