สร้างบ้านให้เป็น Safe Zone ของลูก
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
26-ม.ค.-2566
สร้างบ้านอย่างไรให้เป็น "Safe Zone" ของลูก

          บ้านไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน คำนี้คงไม่ผิดนัก เมื่อเรานึกถึงหน้าที่ของบ้านอันเป็นที่อยู่อาศัยของเราไม่ว่าจะเป็นอาคาร หรือบ้านจัดสรร หรือ สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินส่วนบุคคลก็ล้วนเรียกว่าบ้าน นอกจากนี้บ้านยังเป็นการรวมกันของคนในครอบครัวที่อาจจะประกอบด้วย พ่อ แม่ ลุง ป้า คุณปู่ คุณย่า และลูกๆ ซึ่งไม่ว่าเราจะย้ายสถานที่ไปอยู่ที่ใด แต่หากมีบุคคลที่เราอยู่ร่วมด้วยในนั้น เราก็ยังเรียกมันว่าบ้านอยู่


บ้านที่เป็นเซฟโซน
เป็นอย่างไร มาลองนึกกันดูว่าบ้านที่เราอยู่ทุกวันนี้เป็นเซฟโซนให้กับลูกๆ หรือไม่
  1. บ้านที่จำกัดความคิดและการกระทำ การที่เราวางแผนให้ลูก เรียนแบบนั้น ทำแบบนี้ เพราะคิดมาแล้วว่าเป็นเรื่องดีสำหรับลูกนั้นอาจไม่ใช่ชุดความคิดที่ดีของการเป็นเซฟโซนให้ลูก เพราะการวางแผนอนาคตให้ลูกก็ย่อมมาพร้อมความคาดหวังว่าลูกของเราจะต้องทำตามและทำได้ดี โดยใช้คำว่า หวังดีกับลูก เป็นยันต์กันความรู้สึกต่อต้านที่อาจจะได้รับจากลูก จนบางครั้งความหวังดีนั้นกลายเป็นความกดดัน และทำร้ายลูกของเราโดยไม่รู้ตัว รวมไปถึงการปกป้องลูกมากเกินความจำเป็น เช่น การห้ามไม่ให้วิ่ง เพราะกลัวเด็กจะล้ม การไม่ให้ลองทำสิ่งต่าง ๆ เพราะกลัวจะทำได้ไม่ดีหรือเป็นอันตรายทั้ง ๆ ที่มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป ซึ่งเรามักจะแก้ปัญหาด้วยการห้ามไม่ให้ทำ โดยไม่ได้บอกเหตุผลว่าเพราะอะไร เด็กอาจจะตอบกลับคำสั่งนั้นด้วยการไม่ทำ แต่เขาจะไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรและอาจจะลองทำเองเมื่อไม่อยู่ในการดูแลของเราก็ได้
  2. บ้านที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล การใช้อารมณ์นั้นหมายถึงการใช้อารมณ์ในการเลี้ยงดู หรือการลงโทษเด็ก เมื่อเด็กไม่ทำตามที่พ่อแม่บอก หรือการกระทำผิดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งตั้งใจและๆไม่ตั้งใจก็ตาม การใช้อารมณ์ทั้งการทำร้ายร่างกาย และการใช้คำพูดทำร้ายนั้นไม่ใช้ทางออกที่จะทำให้เด็กเชื่อฟัง แต่เราเพียงใช้ความเจ็บปวดที่เด็กจะได้รับเป็นตัวหยุดพฤติกรรมของเขาเท่านั้น ซึ่งเด็กมีแนวโน้มที่จะต่อต้านได้ในภายหลังเมื่อพวกเขาโตขึ้น
  3. บ้านที่เอาตัวเองเป็นใหญ่ ด้วยวัฒนธรรม หรือการเลี้ยงดูที่สืบต่อกันมาตั้งแต่ในอดีต ทำให้บางครอบครัวมีความเชื่อบางอย่างว่า ลูกนั้นต้องเชื่อฟังพ่อแม่เสมอ และทำตามที่พ่อแม่สั่งเท่านั้น ร้ายแรงกว่านั้นคือการนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ว่าลูกบ้านอื่นเขาอยังทำแบบนี้ได้ ทำไมลูกของเราทำไมทำไม่ได้บ้าง สร้างความคาดหวังที่จะส่งผลให้เด็กขาดความมั่นใจและความคิดสร้างสรรค์ หรือการได้เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ
  4. บ้านที่ไม่มีความเป็นส่วนตัว ล้ำเส้นมากเกินไป การดูแลลูกให้ปลอดภัยจากความเสี่ยง รวมไปถึงการที่พ่อแม่อยากจัดการเรื่องส่วนตัวของลูกให้เรียบร้อยอย่างที่พ่อแม่ต้องการ ซึ่งความหวังดีเหล่านี้นั้น อาจจะทำให้เรามองข้ามไปว่า เด็กในวัยประถมนั้นเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง และต้องการพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น การที่พ่อแม่เข้าไปจัดการพื้นที่นั้นของลูก อาจจะเป็นการล้ำเส้น ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น การเข้าไปเปิดตู้เสื้อผ้า ขอดูโทรศัพท์มือถือ โดยไม่ขออนุญาตหรือถามก่อน
          การเลี้ยงลูกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเด็กแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันไปตามอายุที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและความต้องการ ซึ่งเราต้องรับมือ และแนะนำให้เขาไปในทิศทางที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดี สอนให้เขาเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตนเอง เรียนรู้ในความผิดพลาด และได้ลองทำในสิ่งที่แตกต่าง เพื่อสร้างเกราะป้องกันที่เรียกว่าประสบการณ์อย่างเหมาะสม


ขอบคุณบทความดีๆ จาก
คุณภัทราภรณ์ สิงหศิริ
นักกิจกรรมบำบัดในผู้รับบริการเด็ก
ประจำโรงพยาบาลเปาโล รังสิต


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111 ต่อ 2 หรือ 1772
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

เพิ่มเพื่อน