ทำอย่างไร...เมื่อลูกน้อยมีปัญหาการกิน
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
12-ม.ค.-2566
ทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยเลือกกิน?

          ปัญหาการเลือกกิน กินยาก อมข้าว หรือไม่ทานอาหารบางมื้อ นั้นถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคุณพ่อคุรแม่ที่ต้องเมื่อลูกน้อยเข้าสู่วัยตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป พฤติกรรมนี้ามารถส่งผลถึงการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอไปจนถึงเป็นหนึ่งในสาเหตุการเกิดโรคกระเพาะได้อีกด้วย

พฤติกรรม “การเลือกกิน” ที่พบได้บ่อย 
          จากจำนวนผู้ปกครองที่มาปรึกษาเรื่องปัญหาการกินของเด็ก พฤติกรรมการกินที่เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ คือ เด็ก ๆ ไม่ค่อยยอมทานข้าว ทานข้าวน้อย ในบางรายก็จะทานเฉพาะนม ขนม หรือผลไม้ ไม่ค่อยยอมทานข้าวหรืออาหารมื้อหลัก นอกจากนี้ก็จะมีพฤติกรรมที่ชอบทานเฉพาะอาหารที่กรุบกรอบ ไม่ยอมทานอาหารที่มีเนื้อสัมผัสเหลว ๆ เละ ๆ เพราะเมื่อทานแล้วจะมีอาการแหวะ หรือ อาเจียนออกมา เป็นต้น



สาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการเลือกกิน สามารถแบ่งสาเหตุของการเลือกกินออกเป็น 2 ปัจจัยหลัก ๆ คือ
ปัจจัยภายในตัวเด็ก ได้แก่  
  1. ความชอบ หรือความพึงพอใจ ตรงนี้มักจะไม่เป็นปัญหา หากเด็กมีความชอบที่จะทานอาหารแบบหนึ่งแบบใดเป็นพิเศษ แต่สามารถทานได้ในปริมาณที่เหมาะสม สามารถปรับเปลี่ยนลักษณะอาหารได้โดยไม่เกิดปัญหา โดยสามารถทานอาหารอื่น ๆ ได้หลากหลายด้วย รวมทั้งไม่เป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น อยู่โรงเรียนก็สามารถทานอาหารที่โรงเรียนมีให้ได้
  2. ปัญหาเกี่ยวกับการกิน การกลืน ส่งผลให้การทานอาหารบางชนิด ทำให้เด็กไอ สำลัก เด็กก็ไม่มั่นใจที่จะทานอาหารบางประเภท หรือทานน้อยลง
  3. ความผิดปกติของระบบประสาทหรือสมองในการรับและตีความสิ่งเร้า (หรืออาหารที่เข้าไป) ที่ผ่านระบบประสาทความรู้สึกเข้ามา แล้วสั่งการให้ร่างกายตอบสนองออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ทานแต่ของกรุบ ๆ กรอบ ๆ หรือหลีกเลี่ยงการทานอาหารเหลว ๆ เละ ๆ เป็นต้น ซึ่งภาวะนี้ครูฟ้าพบได้บ่อยในเด็กที่เป็นออทิสติก แต่ทั้งนี้ในเด็กที่มีพัฒนาการปกติก็สามารถเกิดขึ้นได้

ปัจจัยภายนอกร่างกาย ได้แก่
          การจัดตารางมื้ออาหารและการเลี้ยงดู ในส่วนของการจัดตารางมื้ออาหาร หากอาหารมื้อหลักแต่ละมื้อ รวมถึงอาหารมื้อหลักกับอาหารว่างมีระยะเวลาที่ใกล้กันมากจนเกินไป เด็กก็อาจจะยังไม่หิว ทำ ให้ไม่ทานหรือทานน้อยได้ นอกจากนี้การที่ผู้ปกครองมักให้ขนมหรือนม เพื่อทดแทนอาหารหลักที่เด็กไม่ยอมทานหรือทานน้อย ก็จะส่งผลให้เด็ก ๆ มักจะร้องขอขนม นม แทนการทานข้าวได้



แนวทางการแก้ไขปัญหา 
         
ก่อนที่เราจะแก้ไขปัญหาการกินของเด็ก ๆ ได้ เราจะต้องทราบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาก่อนว่าเกิดขึ้นจากอะไร โดยเบื้องต้น อยากให้คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองสังเกตพฤติกรรมการทานอาหารของเด็ก ๆ ว่าเป็นอย่างไร เกิดขึ้นในลักษณะไหน แล้วมีปัญหาอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือเปล่า เช่น ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทความรู้สึก ชอบเล่นอะไรแรง ๆ ชอบกระโดดกระแทกตัว หรือไม่ชอบหยิบจับวัตถุที่มีเนื้อสัมผัสแบบใดเป็นพิเศษหรือเปล่า เพื่อนำ มาเป็นข้อมูลร่วมในการซักประวัติเมื่อมาพบแพทย์หรือนักกิจกรรมบำบัด จากนั้นก็แนะนำให้พาเด็กมาพบแพทย์ หรือนักกิจกรรมบำบัดเพื่อประเมินหาสาเหตุที่แท้จริงเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ได้รับคำ แนะนำ ในการปรับหรือแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมต่อไปโดยถ้าเด็กมีปัญหาเกี่ยวกับการกิน การกลืน ก็จะต้องไปฝึกความสามารถในการกิน การกลืนให้ดีก่อน แต่หากเป็นความผิดปกติของสมองในการรับและแปลผลสิ่งเร้าที่เข้ามาผ่านระบบประสาทความรู้สึกก็สามารถที่จะจัดกิจกรรมที่ไปกระตุ้นระบบประสาทความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การรับความรู้สึกของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ ได้แก่ กิจกรรมปีนป่าย หรือการรับความรู้สึกทางกายสัมผัส เช่น การวาดภาพด้วยนิ้วมือ หรือ finger paint หรือหาของเล่นที่ซ่อนในกระบะทราย เล่นก่อปราสาททราย เป็นต้น เพื่อให้สมองสามารถรับและแปลความสิ่งเร้าได้ดียิ่งขึ้น ก็จะเกิดเป็นพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ทานอาหารได้หลากหลายขึ้น
         
          นอกจากนี้ การจัดตารางเวลาการทานอาหารให้มีระยะห่างที่เพียงพอ ไม่ทานอาหารแต่ละมื้อติดกันจนเกินไป การลดจำนวนครั้งของอาหารว่าง ก็จะช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของเด็กได้มากขึ้น และสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเลยคือการจัดจานอาหารมื้อหลักให้มีความน่าทาน ในเด็กที่ทานยาก หากต้องการให้เด็กทานอาหารได้หลากหลายขึ้น อาจจะใช้การค่อย ๆ ผสมผสานกันระหว่างอาหารเดิมกับอาหารใหม่โดยเริ่มจากอาหารใหม่ในปริมาณน้อย ๆ ก่อน ก็สามารถช่วยได้ ส่วนในเด็กที่จะทานเฉพาะขนม นม เท่านั้น ไม่ยอมทานอาหารมื้อหลัก แนะนำให้ผู้ปกครองงดขนม นม ไปเลยค่ะหากไม่ยอมทานอาหารมื้อหลัก แล้วสร้างระเบียบวินัยในการทานอาหาร โดยกำหนดระยะเวลาในการทานอาหารไว้ เช่น 30 นาที หากไม่ยอมทานหรือทานไม่เสร็จ แนะนำให้ผู้ปกครองเก็บอาหารออกเลย แล้วระหว่างมื้อนั้นไม่ให้นม ขนม ตามที่เด็กร้องขอ ซึ่งวิธีการนี้จะมีความยากตรงที่ผู้ปกครองอาจจะต้องใช้ความใจแข็งเล็กน้อย แต่ถ้าผ่านไปได้ เด็กเขาจะมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เพราะเขาได้เรียนรู้ว่าถ้าไม่กินก็จะต้องหิว แล้วต้องรอกินอีกทีมื้อต่ไปเลย เด็กเขาจะปรับพฤติกรรมเพื่อไม่ให้ตนเองต้องหิว จากที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงคำแนะนำ ในการสังเกตและแก้ไขกับปัญหาการกินของเด็กในเบื้องต้น ซึ่งหากผู้ปกครองยังไม่สามารถที่จะหาสาเหตุและรับมือกับปัญหานี้ได้ ก็แนะนำ ให้พาเด็กมาพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินเพิ่มเติมต่อไป


นางสาว ภัทราภรณ์ สิงหศิริ (ครูฟ้า)
เลขที่ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ก.บ. 1004
นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
โทร. 025778177



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111 ต่อ 2 หรือ 1772
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

เพิ่มเพื่อน