กินอย่างไร เมื่อเป็นเบาหวาน
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
14-ธ.ค.-2566
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเรามีโรคภัยมารุมล้อม นั่นคือ การไม่ใส่ใจสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการรับประทาน “อาหาร” เพราะเรามักจะเลือกของอร่อยมากกว่าของที่มีประโยชน์
โรคเบาหวาน คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ “อาหาร” จึงมีผลต่อความรุนแรงของโรค เพราะทุกอย่างที่รับประทานเข้าไปนั้นจะส่งผลโดยตรงต่อระดับน้ำตาลในเลือด

เช็กก่อน…คุณเป็นโรคเบาหวานหรือเปล่า?
การเลือกอาหารให้เหมาะกับร่างกาย เราต้องรู้ก่อนว่าเรามีโรคใดๆ แฝงอยู่หรือเปล่า นอกจากการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่แล้ว เราต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีอาการบ่งชี้โรคเบาหวานหรือไม่ร่วมด้วย ซึ่งอาการต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานมีดังนี้
  1. หิวบ่อย กินจุ
  2. น้ำหนักลดลงแบบไม่ทราบสาเหตุ
  3. คอแห้ง กระหายน้ำบ่อย
  4. ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืนต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำหลายครั้ง
  5. คันตามผิวหนัง

อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
อาหารสำหรับคนเป็นเบาหวาน ต้องประกอบไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และควรเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นผักและผลไม้ไม่หวาน รวมถึงอาหารที่มีแคลอรีและไขมันต่ำ ส่วนอาหารที่จะเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดต้องเลี่ยงให้ไกล นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงปริมาณและต้องรับประทานอาหารให้เป็นเวลาด้วย เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสวิงขึ้นลงระหว่างวันมากเกินไป

อาหารดี…ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง

1.
กลุ่มพืชผักต่างๆ
เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักกาด มะระ ผักตระกูลถั่ว เป็นต้น กลุ่มผักให้สารอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลน้อย แต่ให้เส้นใยสูง ซึ่งจะช่วยในการขัดขวางการดูดซึมของน้ำตาลและไขมัน

2.
กลุ่มผลไม้
เช่น ฝรั่ง มะละกอ แอปเปิ้ล ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ชมพู่ เป็นต้น แต่ควรเลือกผลไม้ที่หวานน้อย และมีเส้นใยมาก
ปริมาณที่เหมาะสมคือ 3–4 ส่วน/วัน

3.
กลุ่มนม
ควรดื่ม นมรสจืด นมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย นมถั่วเหลือง เลือกสูตรไม่มีน้ำตาล
ปริมาณที่เหมาะสมคือ 1–2 แก้ว/วัน (ปริมาณ 250 ซีซี)

4.
กลุ่มข้าว แป้ง และธัญพืช
ควรรับประทาน ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ขนมปังโฮลวีต
ปริมาณที่เหมาะสมคือ 8–9 ทัพพี/วัน

5.
กลุ่มเนื้อสัตว์ต่างๆ
ควรรับประทานทาน เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง
ปริมาณที่เหมาะสมคือ 12 ช้อนโต๊ะ/วัน (ไข่ทั้งฟอง สามารถรับประทานทานได้ ในผู้มีคอเลสเตอรอลในเลือดไม่สูงคือ 2–3ฟอง/วัน)

6.
กลุ่มไขมัน
ควรรับประทานอาหารที่ปรุงจากน้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด มากกว่าน้ำมันชนิดอื่น
ปริมาณที่เหมาะสมตคือไม่เกิน 6-7 ช้อนชา/วัน


อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง
  1. ขนมหวานทุกชนิด
  2. อาหารทอด อาหารมัน
  3. เครื่องดื่มที่มีรสหวาน นมหวาน น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ผสมน้ำตาล เครื่องดื่มชูกำลัง รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4. ผลไม้เชื่อม กวน ดอง แช่อิ่ม ตากแห้ง อบน้ำผึ้ง รวมทั้งผลไม้กระป๋อง
  5. อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง อาหารรสเค็มจัด อาหารบรรจุกระป๋องหรือถุง เช่น เต้าเจี้ยว เต้าหู้ยี้ ปลาร้า ผักดอง
  6. แม้ว่าโรคเบาหวานจะเป็นโรคเรื้อรัง แต่ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ เพียงแค่ใส่ใจ สุขภาพ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญ… ต้องใส่ใจในการเลือกชนิดอาหารและวิธีการปรุง รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ ในปริมาณที่พอเหมาะ เพียงเท่านี้ “เบาหวาน” ก็ไม่ใช่โรคที่น่าหนักใจอีกต่อไป




รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง