" ริดสีดวงทวาร " ไม่ใช่เรื่องน่าอาย
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
21-มิ.ย.-2565
ริดสีดวงทวาร คือ ภาวะของการโป่งพองของหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก และเกิดการยื่นออกมาเป็นลักษณะติ่งเนื้อออกมาจากช่องทวารหนัก ร่วมกับมีลักษณะอาการ ถ่ายเป็นเลือดแดงสด เป็นหยดๆ ขณะถ่ายอุจาระ หรือถ่ายอุจาระเสร็จ อาจพบได้ในขณะใช้กระดาษชำระ หรือมีอาการเจ็บ และคันบริเวณทวารหนัก ถือเป็นโรคที่สามารถพบเจอได้บ่อยในช่วงวัยทำงาน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่พบน้อยในผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เนื่องจากสาเหตุพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

ท้องผูก และพฤติกรรมการเบ่งถ่ายอุจาระ
เป็นเวลานาน หรือลักษณะของอุจาระที่มีความแข็ง ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อหลอดเลือดที่บริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก

• การนั่งเป็นระยะเวลานาน ทำให้เลือดตกลงมาอยู่ที่บริเวณก้นหรือบริเวณทวารหนักเยอะ เกิดเลือดการคั่งในบริเวณหลอดเลือดของเยื่อบุโพรงทางเดินทวารหนัก และเกิดเป็นเส้นเลือดโป่งพองขึ้นมา หรือกลายเป็นริดสีดวงทวารนั่นเอง



ริดสีดวงทวารมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ

1. แบบภายนอก

มีลักษณะเหมือนเป็นติ่งอยู่บริเวณทวารหนักตลอดเวลา มักไม่มีอาการเจ็บ แต่บางครั้งอาจพบภาวะอาการเฉียบพลันของริดสีดวงทวารในระยะนี้ได้ คือ มีอาการปวด บวมตึง ของติ่งเนื้อที่บริเวณทวารหนัก ตลอดเวลาโดยเฉพาะภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงแรก โดยในระยะนี้จะเป็นการรักษาบรรเทาตามลักษณะอาการ

และพิจาณาการรักษาแบบเฉียบพลัน ด้วยวิธีการผ่าตัดเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นนั่นคือ ตรวจพบภาวะลิ่มเลือดบริเวณหัวริดสีทวงทวาร กรณีนี้ศัลยแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะจุดเข้าไปในบริเวณทวารหนัก และทำการกรีดเปิดผ่าตัดระบายลิ่มเลือดออกมา หรือพิจารณาผ่าตัดริดสีดวงทวารออกทั้งหมด

2. แบบภายใน
จะมีติ่งอยู่ในบริเวณทวารหนัก แบ่งลักษณะอาการของโรคเป็นระยะต่าง ๆ โดยแผนการรักษาจะพิจารณาให้เหมาะสมตามระยะของโรค
ระยะที่ 1
มีก้อนยื่นออกมาแต่ไม่โผล่พ้นทวารหนักออกมา
ระยะที่ 2
มีก้อนยื่นออกมาโผล่พ้นทวารหนักออกมา ก้อนนั้นมีการดันกลับเข้าไปได้เองหลังถ่ายอุจจาระ
ระยะที่ 3
มีก้อนยื่นโผล่พ้นทวารหนักออกมา และไม่สามารถดันกลับเข้าไปในทวารหนักได้เอง ต้องใช้มือช่วยดันกลับเข้าไป
ระยะที่ 4
มีก้อนยื่นโผล่พ้นทวารหนักออกมาตลอดเวลา และไม่สามารถดันกลับเข้าไปในทวารหนักได้

3. แบบภายในผสมภายนอก
ในแบบนี้จะมีริดสีดวงทวารที่เกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายในของบริเวณทวาร ในกรณีนี้จะพิจารณาการผ่าตัดเพื่อทำการรักษา

ริดสีดวงทวาร เมื่อเป็นแล้วสามารถรักษาได้

ในกระบวนการรักษาริดสีดวงทวาร มีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ซึ่งต้องโดยศัลยแพทย์จะวินิจฉัยตามลักษณะอาการและระดับความรุนแรงของโรค แล้วจึงพิจารณาวางแผนการรักษาด้วยวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

• การฉีดสารทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เกิดการฝ่อและหดรัดตัวของหัวริดสีดวงทวารแบบภายใน ระยะที่ 1 และระยะ ที่ 2 ต้องฉีดซ้ำทุก 3 – 4 สัปดาห์ มีโอกาสติดเชื้อภายในอุ้งเชิงกรานและการกลับมาเป็นซ้ำ

• การใช้ยางรัด เป็นวิธีการรักษาสำหรับริดสีดวงระยะที่ 1-3 โดยใช้ยางที่มีความยืดหยุ่นชนิดพิเศษทางการแพทย์ รัดบริเวณหัวริดสีดวงทวาร โดยไม่ควรรัดหัวริดสีดวงทวารพร้อมกันเกินจำนวน 3 หัว สามารถมารัดซ้ำได้ทุก 4-6 สัปดาห์

• การผ่าตัดเปิด ถือเป็นวิธีการผ่าตัดพื้นฐานที่ได้ผลดี มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย สำหรับการรักษาริดสีดวงทวารในระยะรุนแรง โอกาสกลับมาเป็นซ้ำน้อย แต่จะมีอาการเจ็บปวดแผลหลังผ่าตัดเป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งอาการปวดจะค่อยๆบรรเทาลดลง และฟื้นตัวกลับมาปกติภายในระยะเวลาประมาณ 1 เดือน

โดยสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันไปได้ตามปกติ ใส่ใจดูแลในการเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง อาจใช้ยาช่วยในการระบาย ระมัดระวังการทำความสะอาดหลังการขับถ่าย ปรับระดับความแรงของน้ำชำระล้างไม่ควรรุนแรงเกินไป ใช้กระดาษชำระที่มีความอ่อนนุ่ม ซับทำความสะอาดอย่างอ่อนโยน ในช่วงระยะเวลาพักฟื้น

• การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (Staple Hemorhoidectomy)
เหมาะสำหรับการรักษาริดสีดวงแบบภายในเท่านั้น ซึ่งสามารถผ่าตัดนำริดสีดวงออกไปได้หมดทั้งวงรอบ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดตามแนวเส้นรอบวงของริดสีดวงเฉพาะภายใน ใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวไว แต่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ง่าย เมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบปกติ

ปรับ เปลี่ยน ป้องกัน ลดความเสี่ยง เลี่ยงการเกิด โรคริดสีดวงทวาร
ไม่ว่าจะเป็นริดสีดวงทวาร ในระยะความรุนแรงแบบใด สิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจ ให้ความสำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyle modification) เช่น เมื่อนั่งทำงานไปประมาณ 1 ชั่วโมง ควรขยับเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ วันละ 2 ลิตร เลือกทานอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะท้องผูก ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรค และการกลับมาเป็นซ้ำ


เมื่อเกิดภาวะที่ไม่ปกติในร่างกายเราเกิดขึ้น
โดยฉพาะในจุดที่เรามีความกังวลในการเข้ารับการตรวจ
 หากปล่อยอาการนั้นทิ้งไว้ ก็จะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง รวมทั้งแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง
ในส่วนนี้อยากให้มั่นใจ คลายกังวลได้ว่า ไม่ต้องเขินอาย สามารถเลือกตรวจกับศัลยแพทย์ท่านใดก็ได้
ซึ่งทุกท่านมุ่งเน้นเรื่องการค้นหารอยโรค เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาเป็นสำคัญ


คลิก...ตารางแพทย์ออกตรวจ






สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset