โรคอัลไซเมอร์...อันตรายจากสมองเสื่อมที่ไม่ใช่แค่เรื่องหลงลืม
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
23-พ.ย.-2566

โรคอัลไซเมอร์...อันตรายจากสมองเสื่อมที่ไม่ใช่แค่เรื่องหลงลืม

“สมอง” เป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญของร่างกายที่มีหน้าที่ควบคุมและสั่งการระบบต่างๆ ของร่างกาย หากเกิดความเสียหายขึ้นกับสมอง อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการสั่งการของร่างกายและความรู้สึกนึกคิด โดยหนึ่งในโรคที่ส่งผลโดยตรงเกี่ยวกับสมองคงหนีไม่พ้น “โรคอัลไซเมอร์” ซึ่งเป็นโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ

 


ทำความเข้าใจกับ “โรคอัลไซเมอร์”

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer Disease) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมถอยของเซลล์ประสาทในสมอง ซึ่งแรกเริ่มจะค่อยๆ มีอาการสูญเสียความทรงจำ หรือหลงลืมเหตุการณ์ต่างๆ หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจสูญเสียการตัดสินใจ หรือการวางแผน ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ โรคนี้พบได้มากในผู้สูงอายุ โดยเมื่อเป็นแล้วอาการจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นและไม่มีวันหาย

โรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุทุกคน แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-Amyloid) ซึ่งสารตัวนี้จะไปจับกับเซลล์สมอง ส่งผลให้เกิดความเสียหายและนำมาสู่การตายของเซลล์สมอง และทำให้สมองเสื่อมและฝ่อในที่สุด

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์

อายุ : อายุเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เนื่องจากความเสื่อมของสมองตามอายุทำให้ความสามารถในการจดจำหรือสั่งการของสมองถดถอยลง โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้น จะยิ่งพบมากขึ้นตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้น

พันธุกรรม : การมีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคอัลไซเมอร์ จะเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคอัลไซเมอร์มากขึ้นได้ แต่พบในส่วนน้อยหรือประมาณร้อยละ 10-30 เท่านั้น

โรคดาวน์ซินโดรม : ผู้ที่ป่วยเป็นโรคดาวน์ซินโดรมมักจะพบโรคอัลไซเมอร์ร่วมด้วย สาเหตุมาจากความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21

พฤติกรรมการดำเนินชีวิต : ผู้ที่มีปัญหาในการนอนหลับ ออกกำลังกายน้อยหรือขาดการออกกำลังกาย หรือมีภาวะโรคร่วม เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคหลอดเลือดสมอง

การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะอย่างรุนแรง : ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บทางศีรษะอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

 


สังเกตอาการเหล่านี้ให้ไว...อาจใช่โรคอัลไซเมอร์!

สัญญาณแรกเริ่มของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ คือมักจะหลงลืมความทรงจำระยะสั้น เช่น หลงลืมสิ่งที่จะทำในช่วงเวลาหนึ่ง วางของทิ้งไว้แล้วลืม หรือเริ่มนึกชื่อคนที่รู้จักไม่ออก เป็นต้น โดยเมื่ออาการเริ่มรุนแรงขึ้นจะสามารถแบ่งอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้ 3 ระยะ ได้แก่

ระยะแรก : ผู้ป่วยจะเริ่มรับรู้ว่าตนเองขี้ลืม ความทรงจำเริ่มถดถอย ถามซ้ำหรือพูดซ้ำในเรื่องเดิมๆ สับสนทิศทาง หลงในสถานที่คุ้นเคย อารมณ์เสียง่ายและเริ่มซึมเศร้า ส่งผลให้เกิดความเครียด แต่ยังสามารถสื่อสารและยังพอทำกิจวัตรประจำวันได้

ระยะที่สอง : ผู้ป่วยจะมีอาการที่รุนแรงขึ้นจากเดิมและความจำจะถดถอยลง หรืออาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนเป็นคนละคนจากเดิม เช่น จากเดิมเป็นคนใจเย็นกลายเป็นคนมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดและก้าวร้าว หรืออาจกลายเป็นคนเงียบขรึม และเมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถใช้อุปกรณ์ที่เคยใช้ได้ ในบางรายอาจมีความคิดและพฤติกรรมที่ผิดปกติมากขึ้น เช่น ขโมยของ ออกนอกบ้านเวลากลางคืน หรือเกิดภาพหลอน เป็นต้น

ระยะที่สาม : ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง สูญเสียความทรงจำในอดีต รู้สึกสับสน ไม่รู้วันและเวลา ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง ไม่มีการเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวน้อยลง ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมลงจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง

 

การวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์

การตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ เริ่มต้นแพทย์จะทำการซักประวัติจากผู้ป่วย ญาติของผู้ป่วย หรือผู้ที่ดูแล เพื่อประเมินอาการของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์จะทำการทดสอบสมองด้านต่างๆ เช่น ด้านความจำ การคำนวณ หรือการมีปฏิสัมพันธ์ ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด การตรวจภาพสมองด้วยการ CT (Computerized Tomography) หรือการทำ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ตามความเหมาะสมของผู้ป่วย เพื่อแยกแยะสาเหตุของการสูญเสียความทรงจำ และค้นหาสาเหตุว่ามาจากอะไร

 

โรคอัลไซเมอร์รักษาได้หรือไม่?

ในปัจจุบันการรักษาโรคอัลไซเมอร์ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เป็นการรักษาเพื่อช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ หากเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทสมอง สามารถรักษาด้วยวิธีการให้ยา สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

  • การให้ยาเพื่อชะลอการดำเนินโรคอัลไซเมอร์ของผู้ป่วยให้ช้าลง มักใช้ได้ผลกับผู้ป่วยในระยะเริ่มแรก
  • การให้ยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง โดยสามารถทำได้ด้วยการกระตุ้นสมองด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ หรือแบบรับประทาน
  • การให้ยาเพื่อควบคุมพฤติกรรมและรักษาอารมณ์ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีสาเหตุอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเสื่อมของเซลล์สมอง การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่สาเหตุหรือโรคร่วมของการเกิดโรคเป็นหลัก

 


แม้จะรักษาให้หายขาดไม่ได้...แต่ดูแลให้ดีขึ้นได้

การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรค เนื่องจากอาการหรือพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ป่วยเกิดจากตัวโรค ผู้ป่วยอาจไม่ได้ตั้งใจที่จะแสดงพฤติกรรมผิดปกติออกมา ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์สามารถนำคำแนะนำเหล่านี้ไปปฏิบัติตาม เพื่อให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนี้

  1. วางแผนการดูแลผู้ป่วยร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลและรักษาที่ถูกต้อง
  2. ลดความเครียดของผู้ป่วย โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ผิดปกติแก่ผู้ป่วย
  3. จัดการสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของผู้ป่วยให้น่าอยู่ และรู้สึกสบาย
  4. กระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลตัวเอง หรือช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องทำเป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำ
  5. หากิจกรรมเพื่อส่งเสริมหรือกระตุ้นสมอง เพื่อพัฒนาความคิดของผู้ป่วย
  6. เก็บของมีคมหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มิดชิด และปิดวาล์วเตาแก๊สไว้เสมอ เพื่อป้องกันเหตุการณ์รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากภาพหลอนของผู้ป่วย

 

แม้โรคอัลไซเมอร์จะเป็นโรคที่ต้องใช้ความเข้าใจและไม่ใช่เรื่องง่ายในการดูแล แต่หากผู้ดูแลรู้ถึงสาเหตุและพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้ป่วยแสดงออกมา

ทั้งนี้หากสังเกตเห็นถึงสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ การได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับครอบครัวได้อย่างมีความสุข

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ





สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn