สีของปัสสาวะ บ่งบอกปัญหาสุขภาพได้!
สีของปัสสาวะไม่เพียงแต่มีแค่สีเหลือง เหลืองอ่อน หรือสีใสเท่านั้น แต่สีของปัสสาวะสามารถพบได้หลายสี อีกทั้งแต่ละสียังบ่งบอกถึงปัญหาของสุขภาพ ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายที่แฝงอยู่ในร่างกายเราโดยไม่รู้ตัว!
สังเกตสัญญาณเตือนร่างกายด้วย...สีของปัสสาวะ
- ปัสสาวะสีเหลืองอ่อนถึงสีเหลืองทอง : เป็นสีที่บ่งบอกว่าคุณมีสภาพร่างกายที่ปกติ มีการดื่มน้ำที่เพียงพอต่อร่างกาย
- ปัสสาวะสีใสหรือไม่มีสี : เป็นสีที่บ่งบอกถึงการดื่มน้ำที่มากไปในแต่ละวันที่ร่างกายต้องการ ซึ่งการดื่มน้ำที่มากเกินไปอาจทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายต่ำเกินไปทำให้เสียชีวิตได้ หรืออาจเป็นผลจากโรคหรือการทานยาบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน หรือผลจากยาขับปัสสาวะ
- ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม : เป็นสีของปัสสาวะที่ปกติเช่นกัน แต่ก็อาจบ่งบอกถึงภาวะขาดน้ำหรือดื่มน้ำน้อยได้ จึงควรดื่มน้ำให้มากขึ้น
- ปัสสาวะสีขาวขุ่น : ปัสสาวะมีสีขาวขุ่นจนเห็นได้ชัด อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือการมีหนองหรือน้ำเหลืองปนออกมากับปัสสาวะ รวมถึงการดื่มนมในปริมาณมากเกินไปก็สามารถทำให้ปัสสาวะมีสีขาวขุ่นได้เช่นกัน
- ปัสสาวะเหลืองสดหรือสีนีออน : เป็นสีของปัสสาวะที่เกิดจากการทานวิตามินหรืออาหารเสริมมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ร่างกายจึงขับออกทางปัสสาวะ ซึ่งไม่มีความอันตรายใดๆ ดังนั้นก่อนทานวิตามินหรืออาหารเสริมควรรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน
- ปัสสาวะสีส้ม : ปัสสาวะสีส้มอาจบ่งบอกถึงภาวะที่ร่างกายขาดน้ำหรือร่างกายกำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับถุงน้ำดีหรือตับ การกินแคริทในปริมาณที่มากเกินไป หรือการทานยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพรินหรือวิตามินบี
- ปัสสาวะสีส้มเข้ม(สีชา) หรือสีน้ำตาล : อาจบ่งบอกถึงร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง หรือเป็นสัญญาณของการทำงานของตับผิดปกติ เช่น เกิดภาวะตับอักเสบ โรคดีซ่าน รวมถึงการทานยาบางชนิดที่ส่งผลต่อสีของปัสสาวะ
- ปัสสาวะสีแดงหรือชมพู : มักบ่งบอกถึงการมีเลือดปนออกมาในปัสสาวะ ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่สีชมพูไปยันสีแดงเข้ม โดยเลือดที่ปนมากับปัสสาวะอาจเกิดได้จากร่างกายเกิดการติดเชื้อ เป็นสัญญาณของโรคไต หรือโรคทางกระเพาะปัสสาวะ เนื้องอกที่ไม่อันตราย รวมถึงโรคมะเร็ง
นอกจากนี้การมีปัสสาวะสีแดงหรือชมพู อาจเป็นผลมาจากการทานอาหารบางชนิด เช่น บีทรูท รูบาร์บ หรือบลูเบอร์รี่ เป็นต้น
- ปัสสาวะสีฟ้าหรือสีเขียว : ปัสสาวะมีสีเขียวหรือสีฟ้า อาจเกิดได้จากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดจากการทานยาบางชนิดที่ส่งผลให้สีของปัสสาวะเปลี่ยนไป และการทานผักบางชนิดก็ทำให้ปัสสาวะมีสีเขียวได้
- ปัสสาวะสีม่วง : มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “อาการปัสสาวะในถุงเป็นสีม่วง (purple urine bag syndrome)” ซึ่งมักเกิดในผู้ที่ใส่ท่อสวนปัสสาวะที่มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
นอกจากสีของปัสสาวะ...ปัจจัยอื่นๆ ของปัสสาวะก็สำคัญ!
นอกจากสีของปัสสาวะแล้ว ยังมีปัยจัยอื่นๆ เช่น กลิ่น ปริมาณ หรือความถี่ เป็นต้น ที่สามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติในร่างกายได้ โดยเราสามารถสังเกตได้ดังนี้
- กลิ่นของปัสสาวะ : ปัสสาวะที่มีกลิ่นแรงหรือไม่ปกติอาจบ่งบอกถึงปัญหาของสุขภาพได้เช่นกัน เช่น เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือการบริโภคอาหารบางประเภท เช่น หน่อไม้ฝรั่ง แอสพารากัส หรือผลของยาบางชนิด
- ปริมาณของปัสสาวะ : การปัสสาวะมากเกินไป (polyuria) หรือปัสสาวะน้อยเกินไป (oliguria) อาจบ่งบอกถึงปัญหาทางสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน หรือภาวะไตวาย
- ความถี่ของการปัสสาวะ : การปัสสาวะบ่อยเกินไป (frequency) หรือไม่บ่อยพอ อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวาน หรือการดื่มน้ำน้อยเกินไป
- ลักษณะของปัสสาวะ : ปัสสาวะที่มีฟองมากอาจบ่งบอกถึงการมีโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคไต
- ความใสหรือขุ่นของปัสสาวะ : ปัสสาวะที่ขุ่นอาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อ การมีเม็ดเลือดขาวหรือแบคทีเรียในปัสสาวะ
- ความรู้สึกขณะปัสสาวะ : ความรู้สึกปวดหรือแสบขณะปัสสาวะอาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
การสังเกตลักษณะเหล่านี้สามารถช่วยให้เรารู้ถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายของเราได้เบื้องต้น หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม
ดังนั้น หากสังเกตเห็นสี หรือลักษณะอื่นๆ ของปัสสาวะที่ผิดปกติหรือเป็นนานไม่หายสักที ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุอย่างละเอียด เพราะการพบโรคร้ายบางชนิดตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถหาวิธีรับมือ และมีทางเลือกการรักษาที่ได้ผลเหมาะกับตนเองได้ดีที่สุด
บทความโดย
นายแพทย์ณัฐวุฒิ สุมาลัย
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn