สัญญาณเตือน...มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer)
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
12-ก.ค.-2566

มะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric cancer) เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร จึงทำให้ระบบการทำงานของกระเพาะอาหารเสียหาย นอกจากนี้มะเร็งกระเพาะอาหารยังสามารถลุกลามหรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ อาทิ ลำไส้ ตับ ตับอ่อน ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น

 

สาเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

  1. มีประวัติป่วยเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร จากการได้รับเชื้อ Helicobacter pylori (H. pylori)
  2. เคยเป็นโรคกรดไหลย้อน
  3. เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
  4. มีอาชีพหรือใช้ชีวิตประจำวันที่สัมผัสกับฝุ่นและสารเคมีบางชนิด
  5. การมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานในเพศชาย (ในเพศหญิงยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด)
  6. มีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
  7. พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือได้รับควันบุหรี่มือสองอยู่เสมอ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารแปรรูป หมักดอง ตากเค็ม รมควันเป็นประจำ ไม่กินผักและผลไม้

 

อาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่สังเกตได้

สำหรับอาการเตือนโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาจแบ่งเป็นอาการในช่วงแรก เช่น

  • อาหารไม่ย่อย จึงรู้สึกไม่สบายท้อง
  • แสบร้อนบริเวณหน้าอก
  • ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
  • รู้สึกคลื่นไส้
  • เบื่ออาหาร

แต่เมื่อเป็นมากขึ้น มักมีอาการเพิ่มเติม ดังนี้

  • รู้สึกไม่สบายท้องบริเวณส่วนบนและส่วนกลาง
  • มีเลือดปนในอุจจาระ
  • อาเจียน หรืออาเจียนเป็นเลือด
  • อ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

การตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหาร มีประโยชน์มากกว่าที่คิด

เพราะโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะแรกจะไม่แสดงอาการที่เด่นชัดนัก แต่มักถูกตรวจพบด้วยการตรวจสุขภาพจากการส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Gastroscopy) ซึ่งหากพบติ่งเนื้อหรือเนื้องอกเล็กๆ แพทย์สามารถทำการผ่าตัดขณะส่องกล้องที่เป็นเหมือนทั้งการรักษาก่อนที่ติ่งเนื้อนั้นจะลุกลามไปเป็นมะเร็งในอนาคต และตัดเพื่อนำไปตรวจว่าใช้เซลล์มะเร็งหรือไม่ เพื่อวางแผนการติดตาม หรือทำการรักษาต่อไป

 

วิธีการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย จำเป็นต้องได้รับการรักษาตามลักษณะอาการของโรค เช่น การทำเคมีบำบัด หรือการทำคีโม (Chemotherapy) การฉายรังสี (Radiotherapy) ก่อนที่จะทำการผ่าตัดรักษาตามลำดับ โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการรักษาและช่วงเวลาที่เหมาะสมจากผลการวินิจฉัย ทั้งอาการและระดับความรุนแรง ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

 

ดูแลสุขภาพอย่างไร? ให้ห่างไกลมะเร็งกระเพาะอาหาร

การใส่ใจดูแลสุขภาพพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น การบริหารจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารที่มีการปรุงแต่งและแปรรูป ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากทำเช่นนี้สม่ำเสมอก็จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันดีที สุขภาพแข็งแรง ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้

 

สำหรับความเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เราควรดูแลสุขภาพเพิ่มเติมด้วยการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายแม้เพียงเล็กน้อย เช่น อาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นน้อง อาหารไม่ย่อย โดยไม่ปล่อยผ่าน ยิ่งหากมีอาการบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่ชัด

 

แม้ในหลายๆ ครั้ง อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการป่วยด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่เป็นโรคอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือปล่อยทิ้งไว้ก็อาจกลายเป็นโรคเรื้อรัง และเป็นปัจจัยเสี่ยงในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในอนาคตได้เช่นกัน

 

ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะมีอาการใดๆ หรือไม่มีอาการเลย การตรวจสุขภาพประจำปีจะช่วยคัดกรองให้พบความเสี่ยงหรือรอยโรคต่างๆ ได้ก่อนลุกลามรุนแรง ทำให้เราสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพไปในทิศทางที่ถูกต้อง หรือรักษาโรคได้ทันท่วงทีในกรณีมีโรคหรือภาวะใดๆ ซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มาก




บทความโดย

นพ.อมรนิวิษฐ์ กนกวรรณวิมล

อายุรแพทย์ ชำนาญการด้านการส่องกล้องโรคระบบทางเดินอาหารและตับ

โรงพยาบาลเปาโล เกษตร