ท้องผูกเรื้อรัง เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปรับพฤติกรรมอย่างไรดี?
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
21-ก.ย.-2566
มะเร็งลำไส้ใหญ่ อีกหนึ่งมะเร็งร้ายอันดับต้นๆ ที่คนไทยเป็นกันมาก ทั้งยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจากงานวิจัยใน  American College of Gastroenterology (ACG) บอกไว้ว่า… ภาวะท้องผูกเรื้อรังมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยพบว่า ผู้ที่มีท้องผูกเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้มากกว่าคนทั่วไปถึง 1.78 เท่า ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะท้องผูก… จึงถือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ส่วนหนึ่ง

ขับถ่ายแบบไหน? เรียกว่า “ท้องผูก”

ลักษณะของการขับถ่ายอุจจาระที่บอกได้ว่ามีเกณฑ์ผิดปกติหรือท้องผูก คือ เมื่อจำนวนครั้งในการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับลักษณะของอุจจาระที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ก้อนมีขนาดเล็กลง หรือก้อนแข็งขึ้น เวลาถ่ายต้องออกแรงเบ่งให้หลุด และใช้เวลานานกว่าจะขับถ่ายเสร็จ หากปล่อยให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังไปนานๆ ก็อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวงทวาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้


ปรับพฤติกรรม...ป้องกันอาการท้องผูก
1.
ขับถ่ายให้เป็นเวลา
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขับถ่าย คือ หลังตื่นนอนในตอนเช้า ดังนั้น ควรปรับเวลาการตื่นนอนให้เช้าขึ้น เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับการดื่มนมหรือน้ำเปล่า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากถ่าย
2.
ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ในหนึ่งวัน
น้ำเปล่า ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการกระตุ้นการขับถ่าย ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 1.5-2 ลิตรต่อวัน โดยแบ่งดื่มในแต่ละช่วงเวลา ครั้งละ 1-2 แก้ว ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากๆ แบบรวดเดียว
3.
เลือกรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง
อีกตัวช่วยสำคัญในการขับถ่าย คือ อาหารไฟเบอร์สูง อย่างผักและผลไม้ โดยปริมาณของใยอาหารที่พอเหมาะในแต่ละวัน คืออย่างน้อยวันละ 6 กรัม ซึ่งสามารถสังเกตได้จากลักษณะของอุจจาระ ถ้าจมน้ำ...แสดงว่าต้องเพิ่มการกินผักและผลไม้ให้มากขึ้น

4. ออกกำลังกายเป็นประจำช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้

การออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ในคนที่ไม่ค่อยชอบออกกำลังกายหรือเอาแต่นั่งๆ นอนๆ ไม่ค่อยขยับร่างกายในแต่ละวัน มักจะมีโอกาสเกิดภาวะท้องผูกได้สูงกว่า


5 แหล่งไฟเบอร์ กินมากๆ ช่วยในการขับถ่าย
ส้ม อุดมไปด้วยวิตามินซีและยังอัดแน่นด้วยไฟเบอร์ที่มีส่วนช่วยในการขับถ่าย ทั้งยังมีสารนารินจีนินที่ทำหน้าที่คล้ายกับยาระบายอีกด้วย
ลูกพรุน ไม่เพียงเป็นแหล่งไฟเบอร์ปริมาณสูง แต่ในลูกพรุนยังมีสารไดโฮดรอกซีฟีนีลอิซาติน ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของลำไส้ และยังอุดมไปด้วยโพแทสเซียมมากกว่ากล้วยถึง 2 เท่า จึงลดปัญหาร่างกายขาดโพแทสเซียม สาเหตุของอาการท้องผูกถั่วดำ ในถั่วดำ 1 ถ้วยจะอุดมไปด้วยไฟเบอร์มากถึง 15 กรัม รวมทั้งยังมีโพแทสเซียมและแมกนีเซียม ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้อุจจาระเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารได้ง่ายขึ้น
ราสเบอร์รี่ เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่มีไฟเบอร์สูงมากกว่าสตรอว์เบอร์รี่ถึง 2 เท่าเลยทีเดียว
อัลมอนด์
ไม่ใช่แค่เป็นแหล่งไขมันดี แต่อัลมอนด์ยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์และโพแทสเซียมที่ช่วยให้อุจจาระเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารได้สะดวกขึ้น




“ไม่ปวด...เลยพยายามเบ่งถ่าย” พฤติกรรมอันตรายที่ควรหยุด!

หลายคนยังมีความเข้าใจแบบผิดๆ ว่า.. “คนเราต้องขับถ่ายอุจจาระทุกวัน” เมื่อไม่รู้สึกว่าต้องการขับถ่ายก็จะพยายามออกแรงเบ่ง ซึ่งพฤติกรรมการขับถ่ายแบบนี้เป็นการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวารได้ ดังนั้น หากปรับพฤติกรรมเรื่องการกิน การออกกำลังกายแล้ว ยังไม่รู้สึกว่าต้องการขับถ่ายในทุกวันก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ถ้าจำนวนครั้งของการถ่ายในแต่ละสัปดาห์ยังเหมือนเดิม


แม้ว่าจะปรับพฤติกรรมเพื่อการขับถ่ายได้ดีแล้ว แต่ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็น “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ดังนั้น หากคุณเป็นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงการมีนิสัยชอบดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ก็ควรเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อเช็กสุขภาพของลำไส้...ก่อนเสี่ยงโรคมะเร็งร้าย



บทความโดย

นายแพทย์ณัฏฐากร วิริยานุภาค
อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรม โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5113
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset