ปอดอักเสบอันตรายกว่าที่คิด...หากไม่คิดป้องกัน
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
12-ธ.ค.-2566

ปอดอักเสบอันตรายกว่าที่คิด...หากไม่คิดป้องกัน

หน้าหนาวใกล้เข้ามาทีไรก็นึกหวั่นใจทุกครั้ง เพราะเป็นอีกหนึ่งฤดูที่โรคระบาดมักแพร่ระบาดหนัก หนึ่งในนั้นคือ “โรคปอดอักเสบ” หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ “โรคปอดบวม” ซึ่งน่ากลัวไม่แพ้โรคอื่นๆ โรคนี้มักพบในเด็กและผู้สูงอายุ ทั้งยังมีความรุนแรงมาก หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจส่งผลให้อาการทรุดหนักลงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 


โรคปอดอักเสบ...คืออะไร?

โรคปอดอักเสบ หรือ ปอดบวม (Pneumonitis) คือ ภาวะการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆ โดยเกิดจากเชื้อโรคจำพวกเชื้อรา เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียที่แพร่ผ่านอากาศ เช่น การไอ จาม การหายใจรดกัน และหากเชื้อที่ปอดแพร่กระจายไปยังกระแสเลือด อาจจะนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตต่ำ เกิดภาวะช็อกจากการติดเชื้อ และทำให้อวัยวะภายในทำงานล้มเหลวได้

โรคปอดอักเสบสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งหากกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้เกิดการติดเชื้อ จะส่งผลรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ

 

สาเหตุของการเกิดโรคปอดอักเสบ

โรคปอดอักเสบสามารถเกิดได้ใน 2 ลักษณะ คือ

  1. ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ : เป็นชนิดของปอดอักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อราภายในปอดดังที่กล่าวมา หากปริมาณเชื้อมีมากเกินไปจนร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมด จะทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงและมีอาการต่างๆ โดยเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อนิวโมคอกคัส (Pneumococcus), เชื้อ RSV (Respiratory Syncytial Virus), เชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza), เชื้อไวรัสโคโรนา (Corona Virus) และเชื้อราจากมูลนกหรือซากพืชซากสัตว์ เป็นต้น
  2. ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ : อาจเกิดจากการหายใจเอาสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อปอดเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมี หรือมลพิษต่างๆ รวมถึงการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด หรือยาเกี่ยวกับหัวใจบางชนิด หากได้รับสารเหล่านี้เป็นเวลานานจะเกิดการสะสมและกลายเป็นโรคปอดอักเสบได้

 

สังเกตให้ไว! อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงโรคปอดอักเสบ

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะยังไม่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อในทันที แต่จะมีช่วงระยะฟักตัวก่อน ซึ่งจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ โดยจะใช้เวลาตั้งแต่ 1-3 วันไปจนถึงเป็นสัปดาห์ ภายหลังการฟักตัวแล้ว ส่วนใหญ่จะมีอาการเหล่านี้

  • ไอ
  • เจ็บคอ
  • มีไข้สูง
  • อ่อนเพลีย
  • มีเสมหะสีเขียวหรือสีเหลือง
  • รู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียน  
  • หายใจลำบาก
  • เจ็บแน่นหน้าอก

โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาจมีอาการซึมหรือสับสน และในเด็กเล็กอาจมีอาการท้องอืด อาเจียน ซึม หรือไม่อยากดื่มนมหรือน้ำ หากพบอาการเหล่านี้อาจสงสัยได้ว่าเป็นโรคปอดอักเสบ และควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรีบรักษาทันที

 


การตรวจวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ

แพทย์จะเริ่มต้นจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยเฉพาะตรวจการหายใจเพื่อฟังเสียงภายในปอด และอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติอื่นๆ ประกอบการวินิจฉัย

 

โรคปอดอักเสบรักษาอย่างไร?

ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการของผู้ป่วย ร่วมกับการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคปอดอักเสบ ซึ่งแบ่งการรักษาได้ ดังนี้

การให้ยาปฏิชีวนะ : จะให้ในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยจะมีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีด

การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ : เช่น ให้ยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ หรือยาขยายหลอดลม

การรักษาภาวะแทรกซ้อน : หากมีฝีหรือหนองที่ปอด หรือเกิดภาวะมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด ก็จะปรับยาฆ่าเชื้อให้ตรงกับชนิดของเชื้อ แต่ถ้าอาการยังไม่ทุเลา แพทย์อาจพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเอาหนองออก หรือทำการระบายน้ำออก




ป้องกันร่วมกับรักษา...ช่วยเยียวยาโรคปอดอักเสบ

แนวทางการป้องกันโรคปอดอักเสบ ต้องเริ่มจากการป้องกันการติดเชื้อ แต่หากติดเชื้อแล้วก็ต้องรักษาและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีที่สุด โดยมีแนวทางดังนี้

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu Vaccine) วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) วัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumonia)
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และการอยู่ในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • ล้างมือทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการหยิบจับสิ่งของหรือการรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงมลพิษต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ หรือควันจากท่อไอเสียรถยนต์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

ทั้งนี้ อาการของโรคปอดอักเสบที่กล่าวมาทั้งหมด อาจไม่ใช่สัญญาณของโรคปอดอักเสบอย่างเดียวเสมอไป แต่อาจหมายถึงความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกาย ดังนั้นหากพบความผิดปกติหรืออาการน่าสงสัย ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างทันท่วงทีต่อไป

บทความโดย
นายแพทย์อาจ 
พรวรนันท์

แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn