การตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Inbody)
โรงพยาบาลเปาโล
28-เม.ย.-2566

การตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Inbody) คืออะไร?

Inbody คือการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition Analyzer) ที่สามารถบอกได้ถึงปริมาณกล้ามเนื้อ ไขมัน น้ำ เกลือแร่ และปริมาณมวลกระดูก โดยใช้หลักความต้านทานต่อการไหลของกระแสไฟฟ้าในเนื้อเยื้อและเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย (Bioelectrical Impedance Analysis) โดยที่ส่วนของไขมันจะนำไฟฟ้าได้ไม่ดีและมีแรงต้านทานต่อกระแสไฟฟ้าสูง ในขณะที่กล้ามเนื้อซึ่งมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากกว่าจึงนำไฟฟ้าได้ดีกว่าและมีแรงต้านทานต่ำ การตรวจนี้จะให้ค่าตัวเลขที่สามารถนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกายได้อย่างละเอียด


ใครบ้างที่ควรตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Inbody)?

  • ผู้ที่ต้องการทราบสัดส่วนองค์ประกอบของร่างกายเพื่อการดูแลสุขภาพ

  • ผู้ที่ต้องการปรับปรุงรูปร่างหรือพัฒนากล้ามเนื้อ ด้วยการปรับโภชนาการและการออกกำลังกาย

  • ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักด้วยการลดปริมาณไขมัน แต่ยังคงรักษากล้ามเนื้อไว้ได้

  • ผู้ที่มีแนวโน้มมวลกล้ามเนื้อสลาย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง

  • ผู้ที่เจ็บป่วยบ่อย และต้องการเสริมสร้างร่างกายให้มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น


ขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Inbody)

การตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกายด้วยเครื่อง Inbody มีวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก ใช้กระแสไฟฟ้าต่ำ จึงมีความปลอดภัย ไม่เจ็บ และใช้เวลาตรวจเพียง 5-10 นาที ตามขั้นตอนดังนี้

  • ผู้เข้ารับการตรวจยืนบนเครื่องตรวจด้วยด้วยเท้าเปล่า ไม่สวมทั้งรองเท้า ถุงเท้า หรือถุงน่อง หลีกเลี่ยงการสวมเครื่องประดับต่างๆ

  • เจ้าหน้าที่จะป้อนข้อมูลเบื้องต้น เช่น อายุ ส่วนสูง น้ำหนักของผู้เข้ารับการตรวจ เพื่อการประมวลผลเฉพาะบุคคล

  • ผู้เข้ารับการตรวจใช้มือทั้งสองข้างจับราวจับของเครื่อง แล้วยืนนิ่งๆ บนเครื่องประมาณ 5 นาที

  • เครื่องจะทำการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย และพิมพ์ผลตรวจออกมาบนกระดาษ

  • แพทย์ผู้ดูแลการตรวจจะเป็นผู้อ่าน วิเคราะห์ และประเมินผลตรวจ พร้อมให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Inbody)

  • ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือเตรียมตัวใดๆ เป็นพิเศษก่อนตรวจ


การแปรผลและการประเมินผลตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Inbody)

การตรวจด้วยเครื่อง InBody จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition Analyzer) ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับค่าปกติที่ควรจะเป็น ตามเพศและช่วงอายุ ซึ่งแพทย์จะนำผลที่ได้มาประเมินโรคอ้วนเบื้องต้น และแนะนำประเภทรวมถึงปริมาณสารอาหารที่ควรรับประทานให้เพียงพอ ปริมาณน้ำที่ควรดื่ม ชนิดของการออกกำลังกายและความหนักเบา เพื่อการพัฒนาทั้งด้านสุขภาพและรูปร่างให้ตรงตามเป้าหมายที่ผู้เข้ารับการตรวจต้องการ โดยวิเคราะห์จากค่าต่างๆ ดังนี้

  • ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) จะบอกถึงการมีน้ำหนักตัวที่น้อยหรือมากเกินไป ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาถึงปริมาณกล้ามเนื้อ ไขมัน และองค์ประกอบของร่างกายในด้านอื่นๆ ร่วมด้วย

  • อัตราส่วนเอวต่อสะโพก (Waist Hip Ratio : WHR) ซึ่งค่าปกติในผู้ชายควรน้อยกว่า 0.9 และในผู้หญิงควรน้อยกว่า 0.85

  • ปริมาณน้ำในร่างกาย (Total Body Water) ทั้งในเซลล์และนอกเซลล์ ซึ่งจะช่วยกำหนดปริมาณน้ำที่ควรดื่มในแต่วัน โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันของแต่ละบุคคล

  • อาการบวมน้ำ (Edema) เพื่อการเลือกประเภทอาหารให้เหมาะสม เช่น ลดอาหารเค็ม หลีกเลี่ยงอาหารโซเดียมสูง

  • ปริมาณโปรตีนโดยเฉลี่ย (Protein Mass) และปริมาณเเร่ธาตุโดยเฉลี่ย (Minerals Mass) เพื่อกำหนดประเภทและปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับ

  • ปริมาณกล้ามเนื้อโดยรวม (Skeletal Muscle Mass) ซึ่งจะสัมพันธ์กับอัตราการเผาผลาญอาหารในชีวิตประจำวัน (Basal Metabolic Rate : BMR) ที่ตรวจได้ อันสะท้อนถึงอายุร่างกาย โดยสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ด้วยการกินอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสม

  • ปริมาณกล้ามเนื้อในเเขนและขาของแต่ละข้าง และกล้ามเนื้อลำตัว (Lean Muscle Mass) โดยสามารถเปรียบเทียบความสมดุลของแต่ละส่วน เพื่อวางแผนการออกกำลังกายให้เกิดความสมดุล

  • มวลไขมันในร่างกาย (Body Fat Mass) เพื่อการปรับชนิดอาหารและการระมัดระวังโรค

  • เปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย (Body Fat) เพื่อวิเคราะห์ปริมาณที่เหมาะสมในการพัฒนารูปร่างและความคมชัดของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการมีกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Six Pack) ที่ชัดเจน ควรมีเปอร์เซ็นต์ไขมันไม่เกิน 12 โดยค่าปกติของเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายในผู้ชาย คือ 10-20% และในของผู้หญิงคือ 18-28% หากมีมากหรือน้อยกว่าค่าปกติ อาจวิเคราะห์ได้ว่ามีรูปร่างที่อ้วนหรือผอมเกินไป

  • ปริมาณไขมันสะสมตามอวัยวะภายใน (Visceral Fat Area) ซึ่งค่าที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 100 cm2 เพราะหากมีมากเกินไปจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติ เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โดยแพทย์จะให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกาย เพื่อการลดปริมาณไขมันดังกล่าว