ก้อนที่เต้านม...ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับคุณผู้หญิง
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
07-ส.ค.-2567

ก้อนที่เต้านม...ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับคุณผู้หญิง
ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มาเข้ารับการรักษามักคลำเจอก้อนที่เต้านมก่อน แล้วจึงค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งนั่นไม่ใช่อาการแรกเริ่ม เนื่องจากกว่าจะคลำเจอได้ต้องเป็นก้อนที่ค่อนข้างใหญ่และการรักษาอาจทำได้ยากกว่าการที่ตรวจพบเจอแต่เนิ่นๆ ดังนั้นยิ่งพบเร็วเท่าไหร่ โอกาสหายยิ่งมากเท่านั้น

ทำความรู้จักกับ “ก้อนที่เต้านม”
การตรวจคลำแล้วพบก้อนที่เต้านม ไม่ได้บ่งบอกถึงการเป็นมะเร็งเต้านมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยก้อนที่เต้านมสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

  • ซีสต์เต้านม : เป็นการโป่งตึงของถุงน้ำบริเวณเต้านม มักเกิดกับคนที่มีอายุน้อย มีผลมาจากอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของเพศหญิงที่ทำให้ท่อน้ำนมขยาย
  • เนื้องอกธรรมดา : เป็นก้อนเนื้องอกตามธรรมชาติที่พบในเพศหญิงทั่วไป เป็นผลมาจากเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์ท่อน้ำนม ซึ่งมักมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร และไม่มีอาการเจ็บ
  • มะเร็งเต้านม : เป็นเนื้อร้ายจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากเซลล์ที่มีความผิดปกติโดยมีการแบ่งตัวมากขึ้นจนร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ และขยายใหญ่ขึ้นจนเกิดเป็นก้อนเนื้อร้ายในที่สุด



3 วิธี...ตรวจหาก้อนที่เต้านมด้วยตัวเองได้ง่าย ๆ

  1. การคลำในท่ายืน สามารถทำง่าย ๆ ได้ในห้องน้ำ โดยสามารถทำได้โดยการคลำและคลึงบริเวณเต้านมทั้ง 2 ข้าง เพื่อหาก้อนเนื้อ
  2. การดู ใช้วิธีการยืนหน้ากระจกและสังเกตุความสมดุลของเต้านมทั้ง 2 ข้าง และดูลักษณะของผิวว่ามีลักษณะผิดปกติอะไรหรือไม่ เช่น มีผิวหนังแดง ผิวหนังหนา หรือรูขุมขนกว้างลักษณะคล้ายผิวส้มหรือไม่ และดูลักษณะของหัวนมว่ามีการดึงรั้งผิดปกติ มีหัวนมบุ๋ม หรือมีเนื้องอกที่บริเวณหัวนมหรือไม่
  3. การคลำในท่านอน ยกแขนข้างหนึ่งไว้หลังศีรษะ และนำมืออีกข้างตรวจเต้านมด้านตรงข้าม โดยคลึงในลักษณะวนเป็นก้นหอยเพื่อคลำหาก้อนบริเวณเต้านม


หากอายก็ไม่ทราบโรค...ถ้าตรวจเสร็จก็หายอายเอง
หากผู้ป่วยมีความเขินอายที่จะเข้ารับตรวจก้อนที่เต้านม สามารถพูดคุยกับแพทย์ก่อนได้ เพื่อสร้างความผ่อนคลาย ความเป็นกันเองให้กับคนไข้ และให้ความเป็นส่วนตัวกับคนไข้สูงกว่าปกติ หรือหากยังเป็นกังวลอยู่ก็สามารถทำการปิดตาหรือห่มผ้าก็จะช่วยให้ลดความกังวลได้เช่นกัน




หากตรวจพบซีสต์หรือก้อนเนื้อที่เต้านม...จำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่?
ปกติหากตรวจพบว่าเป็นซีสต์มักไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่จะใช้เข็มดูดเจาะเพื่อนำน้ำมาส่งตรวจวินิจฉัย อีกทั้งยังเป็นการรักษาไปในตัว เนื่องจากหากใช้เข็มเจาะดูดไปแล้วก้อนเหล่านั้นก็จะยุบลง

แต่หากตรวจพบว่าเป็นก้อนเนื้อที่เต้านมจะต้องดูจากผลอัลตร้าซาวด์และเมมโมแกรมเพื่อจำแนกโรคว่า ก้อนที่ตรวจพบมีลักษณะเป็นอย่างไร อยู่ในระดับใด เป็นระดับที่ต้องเจาะหรือต้องตัดก้อนไปตรวจ ซึ่งจะต้องดูจากผลการเอ็กซ์เรย์อีกที




รักษาแล้ว...จะกลับมาเป็นอีกหรือไม่?
โดยหากเป็นเนื้องอกธรรมดาถ้าทำการผ่าตัดออกไปแล้วก็จะสามารถหายขาดได้ และไม่กลับมาเป็นอีก แต่หากเป็นเนื้อร้ายก็จะสามารถกลับมาเป็นอีกได้ ดังนั้นจึงต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง


ลดความเสี่ยง ป้องกันการเกิดโรคด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
ในปัจจุบันการป้องกันที่ดีที่สุดในการเกิดมะเร็งเต้านม คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยแนะนำสำหรับผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทุก 1 ปี ส่วนผู้หญิงที่อายุ 20-40 ปี ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจทุก 2-3 ปี แต่ถ้าหากคลำได้ก้อนที่เต้านมหรือมีอาการผิดปกติอื่นก็สามารถมาพบแพทย์ได้เลย ไม่ต้องรอ

บทความโดย
แพทย์หญิงศศพินทุ์ วงษ์โกวิท
แพทย์ประจำสาขาศัลยกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก ศัลยกรรมทั่วไป อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2145-2146

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn