วิธีรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม...ปัญหาสุขภาพของคนวัยทำงาน
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
11-ก.ย.-2567

วิธีรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม...ปัญหาสุขภาพของคนวัยทำงาน

โรคออฟฟิศซินโดรมเป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในคนทำงานจำพวกออฟฟิศ ที่เกิดจากการนั่งทำงานในท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามคอ บ่า ไหล่ หลัง และข้อมือ ซึ่งโรคออฟฟิศซินโดรมสามารถรักษาได้ แต่การรักษาให้ได้ผลดีนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวินิจฉัยที่เหมาะสม

 


ออฟฟิศซินโดรม คือ...

ออฟฟิศซินโดรม คือ อาการปวดเมื่อยตามร่างกายที่เกิดจากการทำงานในออฟฟิศนานๆ โดยเฉพาะการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ ซึ่งมักเกิดจากการนั่งผิดท่าหรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยมีอาการที่พบได้บ่อย คือ

  • ปวดคอ บ่า ไหล่ : เพราะนั่งนานเกินไปหรือท่านั่งไม่ถูกต้อง
  • ปวดหลัง : จากการนั่งนานโดยไม่ขยับตัว
  • ปวดหัว : เกิดจากความเครียดหรือท่านั่งที่ทำให้กล้ามเนื้อตึง
  • ตาล้า ตาแห้ง : เพราะจ้องหน้าจอนานเกินไป
  • มือชา : เนื่องจากการใช้เมาส์หรือคีย์บอร์ดในท่าที่ไม่ถูกต้อง

 

ทำไมการวินิจฉัยโรคออฟฟิศซินโดรมจึงสำคัญ?

การวินิจฉัยโรคออฟฟิศซินโดรมที่แม่นยำจะช่วยให้รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดและปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น หากไม่มีการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง การรักษาอาจไม่ตรงจุดและอาการอาจไม่ดีขึ้น หรือแย่ลงได้

 

ขั้นตอนการวินิจฉัยโรคออฟฟิศซินโดรม

  1. ซักประวัติการทำงานและอาการที่เกิดขึ้น

แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับลักษณะงานที่ทำ อาการที่ที่เกิดขึ้น และพฤติกรรมการทำงาน เพื่อระบุสาเหตุที่เป็นไปได้

  1. การตรวจร่างกาย

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อหาจุดที่มีปัญหา เช่น การกดจุดที่ปวด ตรวจการเคลื่อนไหวของข้อต่อ และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ

  1. การตรวจเพิ่มเติมหากจำเป็น

บางครั้งแพทย์อาจใช้เทคโนโลยีในการช่วยวินิจฉัย เช่น X-ray หรือ MRI เพื่อตรวจสอบความเสียหายของกระดูกหรือหมอนรองกระดูก รวมถึง Electromyography (EMG) เพื่อวิเคราะห์การทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

 


ออฟฟิศซินโดรม...หายได้หากรักษาตรงจุด

เมื่อทราบสาเหตุที่แน่ชัดแล้ว การรักษาจะสามารถออกแบบให้ตรงจุดได้ เช่น การปรับท่านั่งทำงาน การออกกำลังกายเฉพาะจุด การนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ หรือการทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่จำเป็นอาจมีการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ

 

การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมจะได้ผลดีเมื่อมีการวินิจฉัยที่เหมาะสม การรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดจะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น หากคุณเริ่มมีอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง อย่ารอช้าที่จะพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว

 

บทความโดย
นายแพทย์อนันต์ สัจจะมุนีวงศ์
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn