-
โรคหัวใจ...ตรวจด้วยอะไรได้บ้าง?
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
29-ก.ย.-2566

โรคหัวใจ...ตรวจด้วยอะไรได้บ้าง?

            หลายคนอาจคิดว่า “โรคหัวใจ” เป็นเรื่องที่ไกลตัวหรือมีโอกาสที่จะเกิดโรคน้อย แต่จริงๆ แล้วโรคหัวใจนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน บางรายอาจมีสัญญาณเตือน แต่ในบางรายที่ไม่มีสัญญาณเตือนเมื่อเกิดอาการของโรคหัวใจขึ้นมาอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันโรคหัวใจที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เราจึงควรตรวจเช็คสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในผู้ที่มีสัญญาณเตือนหรือผู้ที่สุ่มเสี่ยงต่อโรคหัวใจ แต่การตรวจเช็คสุขภาพหัวใจทำได้อย่างไร วันนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับวิธีการตรวจสุขภาพหัวใจกัน

 

6 วิธีตรวจสุขภาพหัวใจ...ให้ห่างไกลความเสี่ยง

            การตรวจสุขภาพหัวใจมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา ซึ่งวิธีการตรวจสุขภาพหัวใจมีด้วยกันดังนี้

  1. การตรวจร่างกายทั่วไป : เพื่อดูสภาพร่างกาย น้ำหนัก ส่วนสูง อัตราชีพจร จังหวะการเต้นหัวใจ หรือเสียงหัวใจ และประวัติสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัว ที่อาจเป็นองค์ประกอบของสาเหตุโรคหัวใจที่เกิดขึ้น รวมถึงดูโรคอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วย

 


  1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography : EKG, ECG) : เป็นการตรวจเพื่อดูกระแสไฟฟ้าที่หัวใจผลิตออกมาขณะที่หัวใจบีบและคลายตัว โดยจะแสดงผลออกมาเป็นรูปแบบของกระดานกราฟคลื่นไฟฟ้าออกมา

     หากผลคลื่นไฟฟ้าที่ออกมามีลักษณะสม่ำเสมอแสดงว่าหัวใจทำงานปกติ แต่หากผลคลื่นไฟฟ้าที่ออกมามีลักษณะผิดปกติ เช่น รูปแบบของสัญญาณไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอหรือมีความแตกต่างในบางจุด อาจแสดงถึงความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นบริเวณใดบริเวณหนึ่งของหัวใจ เหมาะสำหรับช่วยค้นหาความผิดปกติของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือกล้ามเนื้อหัวใจโต ทั้งนี้การตรวจนี้อาจให้ผลปกติได้ในผู้ที่มีภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ดังนั้นหากสงสัยว่าตัวเองมีภาวะนี้แนะนำให้ตรวจซ้ำ

 


  1. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test : EST) : เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการวิ่งสายพาน เพื่อดูว่าเมื่อร่างกายต้องออกแรงอย่างหนัก ผู้ป่วยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขณะออกกำลังกายหรือไม่ โดยดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึงอาการแสดงอื่นๆ เช่น หายใจลำบากหรือเจ็บแน่นหน้าอกร่วมด้วย

                 ผู้ป่วยเหล่านี้มักไม่มีอาการหรือความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพัก แต่เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้

 


  1. การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ (CT Calcium Scoring) : เป็นวิธีการตรวจโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูงหรือเรียกว่าเครื่อง CT scan ที่ทำหน้าที่วัดระดับแคลเซียมหรือหินปูนที่เกาะบริเวณหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการอุดตันของหลอดเลือด ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

                 เนื่องจากเครื่อง CT scan มีความเร็วในการจับภาพสูงมาก ทำให้ภาพที่ออกมามีความคมชัดแม้มีคราบหินปูนในปริมาณน้อย และมีความแม่นยำสูง โดยจะบอกถึงปริมาณหินปูนที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดหัวใจ จึงมักใช้วิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเริ่มต้นในคนปกติได้ดี

 


  1. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram : Echo) : เป็นการตรวจโดยใช้หัวตรวจชนิดพิเศษ ทำให้เห็นภาพโครงสร้างของหัวใจ โดยเป็นการส่งคลื่นความถี่สูงลงไปบริเวณหัวใจ จากนั้นคลื่นความถี่จะสะท้อนกลับมาเพื่อแสดงผลเป็นภาพออกมา ซึ่งผลจากการตรวจสามารถบอกถึงรูปร่างและความหนาของหัวใจ การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ ความดันในห้องหัวใจ หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณหัวใจ

                 ทั้งนี้การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงจะไม่เห็นหลอดเลือดหัวใจโดยตรง และอาจได้ภาพที่ไม่ชัดเจน หากผู้ป่วยมีภาวะอ้วนหรือผอมมากเกินไป หรือมีถุงลมโป่งพอง เนื่องจากไขมันและอากาศมีผลต่อคลื่นความถี่สูง

 


  1. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องบันทึกไฟฟ้าแบบพกพา (Holter Monitor) : เป็นการติดเครื่องมือการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจขนาดเล็กไว้กับตัวตลอด 24 ชั่วโมงหรือมากกว่า เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะทำกิจกรรมต่างๆ หากมีความผิดปกติบันทึกในเครื่องจะสามารถบอกถึงปัญหานั้นได้ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ

 

            ทั้งนี้การตรวจเช็คสุขภาพหัวใจแต่ละวิธีจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำหรือคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจก่อนได้รับการตรวจเท่านั้น เนื่องจากความเสี่ยงและความเหมาะสมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

            อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 - 40 ปีขึ้นไป ควรหมั่นตรวจเช็กสุขภาพหัวใจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี และสำหรับบางคนที่ไม่มีอาการเกี่ยวกับโรคหัวใจ แต่บุคคลในครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจ ควรหมั่นสังเกตตัวเองและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ทางที่ดีควรหมั่นตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เช่น การตรวจเบาหวาน ไขมัน หรือความดันโลหิต เพื่อเป็นการคัดกรองภาวะที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด และป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันได้

บทความโดย
นายแพทย์สรศักดิ์ เอกอมรพันธ์
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรมหัวใจและหลอดเลือด
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ





สอบถามรายละเอียด
แผนก อายุรกรรมหัวใจและหลอดเลือด อาคาร 1 ชั้น 3
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2325-2326

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn