-
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม...เปลี่ยนข้อสะโพกใหม่ ให้กลับมาเดินได้ปกติ
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
25-ต.ค.-2566

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม...เปลี่ยนข้อสะโพกใหม่ ให้กลับมาเดินได้ปกติ

โรคข้อสะโพกเสื่อม ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของข้อต่อ เพราะเกิดจากบริเวณกระดูกอ่อนที่คลุมพื้นผิวของข้อต่อเสื่อมลง จนหลุดร่อนออกไป ส่งผลให้ผู้ป่วยขยับตัวลำบาก ติดๆ ขัดๆ ตลอดวัน กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย หากปล่อยไว้จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจต้องรักษาด้วย “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม” ในภายหลังได้

 


หน้าที่ของข้อสะโพก

ข้อสะโพกถือเป็นข้อต่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกายในทุกๆ อิริยาบถ เช่น นั่ง เดิน ยืน หรือนอน อีกทั้งยังเป็นข้อต่อที่เชื่อมระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกต้นขา โดยข้อสะโพกมีหน้าตาคล้ายลูกบอลกลมมน หรือที่เรียกว่า “หัวกระดูกสะโพก” เชื่อมอยู่ในเบ้ากระดูกสะโพกที่มีลักษณะเป็นแอ่งครึ่งวงกลมอยู่ในกระดูกเชิงกราน ซึ่งทั้งหัวกระดูกสะโพกและเบ้ากระดูกสะโพกจะมีผิวกระดูกอ่อนเคลือบอยู่ เพื่อหล่อลื่นข้อสะโพกให้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และชะลอการสึกหรอของผิวกระดูก

 

ทำความรู้จักโรค “ข้อสะโพกเสื่อม”

อวัยวะทุกส่วนในร่างกาย เมื่อผ่านการใช้งานมานานก็ย่อมเสื่อมสภาพ เช่นเดียวกัน เมื่อสะโพกผ่านการใช้งานเป็นเวลานาน หรือเคยเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณสะโพก จะทำให้สะโพกเกิดการสึกหรอของผิวข้อเร็วขึ้น หรือเกิดการทรุดตัวของหัวกระดูกได้ง่าย ส่งผลให้เกิดโรคข้อสะโพกเสื่อมตามมาได้

นอกจากนี้ สาเหตุของโรคข้อสะโพกเสื่อมยังสามารถเกิดได้จากปัจจัยและสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก การได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณข้อสะโพก หรือจากการใช้งานข้อสะโพกอย่างหนัก เป็นต้น

 


อาการปวดสะโพก...อาจบ่งบอกถึงข้อสะโพกเสื่อม

ผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อม จะมีอาการดังนี้

  1. ปวดหรือเจ็บบริเวณสะโพก โคนขาหนีบ ต้นขาด้านหน้า และอาจปวดร้าวไปถึงหัวเข่า
  2. อิริยาบถติดขัดในบางท่า เช่น นั่งพับเพียบหรือไขว่ห้างไม่ได้ ลุกจากเตียงหรือที่นั่งเตี้ยๆ ลำบาก
  3. ปวดขณะยืนหรือเดิน โดยในขณะเดินลำตัวอาจเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากข้อสะโพกเสื่อม หรือหากข้อสะโพกเสื่อมมากจะรู้สึกได้ว่าขาข้างหนึ่งสั้นกว่าอีกข้าง
  4. เมื่อปวดมากๆ ผู้ป่วยจะเลี่ยงอาการปวดด้วยการลดการเคลื่อนไหวข้างที่ปวดลง ส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งาน จนเกิดภาวะข้อยึดติด กล้ามเนื้อต้นขาตีบลีบไม่มีแรง กล้ามเนื้อสะโพกขยับได้น้อยลง
ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาไม่ให้อาการเหล่านี้มารบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม” จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งให้ผู้ป่วยได้พิจารณา เพราะเป็นการรักษาที่ได้รับการยอมรับในวงการการแพทย์ทั่วโลก และยังเป็นการรักษาที่ให้ผลดีในระยะยาวอีกด้วย

 


ทำความรู้จัก “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม”

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม คือ การผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียมแทนที่ข้อสะโพกเดิมที่เสื่อมสภาพหรือมีปัญหา เช่น กระดูกตาย กระดูกแตกหัก หรือโรคผิวข้อสะโพกเสื่อม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวกและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม ข้อสะโพกเทียมอาจมีความทนทานในผู้ป่วยแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย หรือเทคนิคการผ่าตัดของแพทย์ ทั้งนี้ข้อสะโพกเทียมจะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 20 - 25 ปีหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ซึ่งถือว่าเป็นการใช้งานค่อนข้างยาวนานสำหรับการผ่าตัดใส่อวัยวะเทียม โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนอวัยวะบ่อยๆ

ยิ่งไปกว่านั้น วงการการแพทย์ในปัจจุบันมีการพัฒนาอุปกรณ์การรักษาอยู่ตลอดเวลา ทำให้ในอนาคตเราอาจได้เห็นข้อสะโพกเทียมที่สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าขึ้นก็เป็นได้

 

อาการแบบไหนที่บอกว่า ควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมได้แล้ว

  • ปวดข้อสะโพกจนใช้ชีวิตประจำวันตามปกติไม่ได้ เช่น ยืน เดิน หรือเมื่อไหร่ก็ตามที่ลุกหรือนั่งจะรู้สึกปวด
  • การเคลื่อนไหวติดขัด ขยับตัวลำบาก หรือมีเสียงลั่นในข้อสะโพก
  • รู้สึกปวดสะโพกรุนแรง จนไม่สามารถเหยียดข้อสะโพกได้
  • กระดูกสะโพกหัก โดยแพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่ควรรักษาด้วยการใช้โลหะยึดดามกระดูก
  • ต้องใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดทุกวัน หรือเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยา

จากอาการที่กล่าวมาข้างต้น หากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา กายภาพบำบัด ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน หรือปรับเปลี่ยนท่าทางการใช้งานสะโพกแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น หรือบรรเทาได้เพียงเล็กน้อยหรือชั่วคราว แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

 

ข้อจำกัดเมื่อต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

แม้ว่าจะเป็นการรักษาที่ได้ผลดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายได้ อาทิ

  • ผู้ป่วยที่มีภาวะข้ออักเสบติดเชื้ออยู่
  • ผู้ที่มีกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกอ่อนแรงมากและอาจทำให้ข้อสะโพกหลุดได้ง่าย
  • ผู้ที่มีโรคทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อข้อสะโพกที่จะทำการผ่าตัด
  • ผู้ที่มีโรคเลือดหรือหลอดเลือดที่มีอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง
  • ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนรุนแรงมากบริเวณข้อสะโพก

 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

  • ตรวจร่างกายเพื่อประเมินความพร้อมก่อนเข้ารับการผ่าตัด เช่น ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • เตรียมผิวหนังให้พร้อมก่อนการผ่าตัด เช่น ไม่ทาเล็บ ห้ามสัก หรือเจาะร่างกาย ล่วงหน้า 30 วัน และอาบน้ำให้สะอาดในวันผ่าตัด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • งดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
  • หากมีการใช้ยาประจำตัว เช่น ยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด ยาแอสไพริน และยาแก้อักเสบบางชนิด ควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบก่อนทำการผ่าตัด (และควรหยุดทานยาก่อนวันผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน ตามคำแนะนำของแพทย์)
  • ผู้ป่วยต้องไม่มีปัญหาการติดเชื้อที่ช่องปากและฟัน เพราะบาดแผลในช่องปากจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อในบริเวณที่ผ่าตัดได้

 


อาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด ที่ต้องรีบพบแพทย์ทันที

  • มีไข้สูง หนาวสั่น หรือปวดบวมแดงบริเวณรอบแผลผ่าตัด
  • มีเลือดหรือหนองซึมออกจากแผลผ่าตัด
  • ปวดสะโพกมากขึ้นกว่าเดิมขณะเคลื่อนไหวหรืออยู่กับที่

 

ทั้งนี้ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก เป็นการผ่าตัดที่ต้องอาศัยทั้งความละเอียด และความเชี่ยวชาญจากแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องพิจารณาร่วมกันกับแพทย์เพื่อเลือกแนวทางการผ่าตัดที่เหมาะสม ซึ่งการรักษาที่ดีจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว

บทความโดย
นายแพทย์ กษิดิศ ศรีจงใจ 
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ






สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn