ปัญหาสุขภาพสตรี...กับการรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้องโรคทางนรีเวช
ผู้หญิงที่มาพบแพทย์ส่วนหนึ่ง มักมาด้วยกลุ่มอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ประจำเดือนผิดปกติ หรือคลำเจอก้อนในช่องท้อง ซึ่งการตรวจหาสาเหตุของอาการดังกล่าว สูตินรีแพทย์อาจจำเป็นต้องให้ตรวจภายในหรือทำอัลตร้าซาวด์ เพื่อการวินิจฉัยในกลุ่มโรคต่างๆ อาทิ เยี่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในโพรงมดลูก ถุงน้ำรังไข่ หรือมะเร็งปากมดลูก ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้สามารถรักษาได้ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้องโรคทางนรีเวช
การผ่าตัดผ่านกล้องโรคทางนรีเวช คืออะไร?
การผ่าตัดผ่านกล้องโรคทางนรีเวช Laparoscope Surgery เป็นการผ่าตัดโดยการสอดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขนาดเล็กเข้าไปยังอวัยวะที่ต้องการผ่าตัด เช่น บริเวณอุ้งเชิงกราน รังไข่ มดลูก ท่อนำไข่ หรือบริเวณใกล้เคียง ผ่านรอยแผลขนาดเล็กประมาณ 1-2 ซม. จากนั้นกล้องที่สอดเข้าไปจะส่งภาพมายังจอรับภาพซึ่งทำหน้าที่แทนตาของแพทย์ และมีเครื่องมือผ่าตัดสอดเข้าไปแทนเครื่องมือผ่าตัดธรรมดา ทั้งนี้การผ่าตัดผ่านกล้องยังสามารถเข้าไปถึงจุดเล็กๆ ที่มือแพทย์ไม่สามารถเข้าไปทำการผ่าตัดได้
โรคทางนรีเวชที่สามารถผ่าตัดผ่านกล้องได้
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- ถุงน้ำ หรือเนื้องอกที่รังไข่และมดลูก
- กลุ่มโรคมะเร็งทางนรีเวช เช่น มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งปากมดลูก
- ปวดท้องน้อยเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ตั้งครรภ์นอกมดลูก
- การรักษาโรคกลุ่มผู้มีบุตรยาก เช่น การตัดท่อนำไข่
- การรักษาโรคในโพรงมดลูก
- การทำหมัน
ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง
- ช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน ทำให้มีความเจ็บปวดน้อย และลดการเสียเลือดได้มาก
- ขนาดของแผลจะเล็กเพียง 1-2 ซม. ซึ่งเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดที่ทำให้มีแผลกว้างถึง 12-20 ซม. และกลายเป็นแผลเป็น การผ่าตัดผ่านกล้องจึงช่วยลดขนาดของแผลเป็นลงให้ได้เหลือเพียงนิดเดียว
- พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ซึ่งในบางกรณีอาจจะกลับบ้านได้ทันทีหลังการผ่าตัด จึงดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิดที่ต้องเสียเวลาพักฟื้นนานเป็นสัปดาห์
- ช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และโรคแทรกซ้อนต่างๆ นับว่าปลอดภัยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดช่องท้อง
- ช่วยลดการเกิดพังผืดในช่องท้องจากการผ่าตัดแบบเปิด
- ด้วยเทคโนโลยีกำลังขยายของกล้อง ทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดของอวัยวะที่ต้องการผ่าตัดได้อย่างชัดเจน จึงทำให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างตรงจุด ลดการกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ
ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้อง
- มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ที่มีนวัตกรรมพิเศษ
- ยังไม่สามารถใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยในบางราย ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคปอดและหัวใจขั้นรุนแรง และผู้ที่เคยผ่าตัด หรือมีพังผืดในท้องจำนวนมาก
วิธีการเตรียมตัว ก่อน-หลังการผ่าตัด
ก่อนการผ่าตัด
- เตรียมร่างกายให้พร้อม รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดน้ำ งดอาหาร อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- แจ้งประวัติประจำตัว การแพ้ยา โดยให้แจ้งแพทย์ทันทีที่เข้ารับการรักษา และแจ้งอีกครั้งเมื่อรู้ว่าจะต้องผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่ และแอลกอฮอล์
- กรณีผ่าตัดลำไส้ แพทย์จะทำการล้างลำไส้ โดยจะให้ยากระตุ้นการขับถ่ายออกมาให้หมด
- ไม่สวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ต่างหู หรือเครื่องประดับจากการเจาะตามร่างกาย หากนำติดตัวมาที่โรงพยาบาลต้องถอดเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย
หลังการผ่าตัด
- งดน้ำ งดอาหาร ประมาณ 12-24 ชั่วโมง ตามแพทย์สั่ง
- งดสูบบุหรี่ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
วิธีดูแลตัวเองทั่วไป...ให้ห่างไกลโรคทางนรีเวช
- หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด
- รักษาสุขอนามัยของอวัยวะเพศภายนอก
- ควรใช้แผ่นอนามัยเฉพาะช่วงวันที่มีประจำเดือน
- หลีกเลี่ยงการใส่กระโปรง หรือกางเกงที่รัดรูปมากเกินไป
- หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนหลายคนหรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย
นอกจากนี้ยังควรหมั่นสังเกตประจำเดือน ทั้งรอบการมาของประจำเดือน ปริมาณของประจำเดือน และสีของประจำเดือน หากพบความผิดปกติหรือมีความสงสัยว่าจะมีความเสี่ยงโรคทางนรีเวช ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่