-
ภาวะไขมันพอกตับ...อีกภัยลับสำหรับคนไม่ดูแลตัวเอง
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
15-พ.ค.-2566

ภาวะไขมันพอกตับ...อีกภัยลับสำหรับคนไม่ดูแลตัวเอง

“ตับ” เป็นอวัยวะภายในช่องท้องที่ใหญ่ที่สุด อยู่ทางด้านขวาหลังซี่โครงส่วนล่าง ทำหน้าที่สะสมสารอาหาร น้ำตาล เพื่อช่วยในการยังชีพและการเติบโตของเซลล์ต่างๆ ของร่างกายคล้ายกับแบตเตอรี่ การทานอาหารที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย หรือการทานมากเกินไป ก็เหมือนการเติมพลังงานที่ไม่ดีลงในแบตเตอรี่ เมื่อไม่ได้นำพลังงานไปใช้ ใช้ไม่หมด หรือตับทำงานไม่ปกติ ก็จะเกิดไขมันสะสมขึ้นที่ตับมากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้เกิดภาวะ “ไขมันพอกตับ” ได้

 


ทำความรู้จักกับภาวะ “ไขมันพอกตับ”

ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver) หรือไขมันเกาะตับ เป็นภาวะที่เกิดจากการสะสมไขมันในตับมากเกินไป โดยไขมันที่สะสมมากเกินไปมักเป็นชนิดไตรกลีเซอไรด์ ภาวะนี้ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติเล็กน้อย แม้จะไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่หากปล่อยไว้อาจส่งผลให้เกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในที่สุด

 

สาเหตุใด...ทำให้เกิดไขมันพอกตับ

สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันพอกตับสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และกินอาหารที่มีไขมันสูง โดยจะขึ้นอยู่กับปริมาณ ประเภท และระยะเวลาของการทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม
  2. ภาวะไขมันพอกตับจากการทำงานของร่างกาย เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวาน มีภาวะอ้วน มีความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง และผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี

 


อาการของภาวะไขมันพอกตับ

ในระยะแรกๆ ของภาวะไขมันพอกตับมักจะไม่มีอาการแสดง หรือหากมีอาการก็จะเป็นอาการทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้เล็กน้อย รู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา ซึ่งไม่สามารถบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเป็นโรคไขมันพอกตับ เนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับตับมักจะใช้เวลาในการดำเนินโรคค่อนข้างนาน

โดยส่วนใหญ่ การตรวจพบว่าใครมีภาวะไขมันพอกตับนั้น มักพบเมื่อผู้ป่วยเข้ามารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจทางการแพทย์ด้วยเหตุผลอื่นๆ ในบางรายเมื่อตรวจพบก็อาจอยู่ในขั้นที่มีภาวะตับแข็งแล้ว ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะตับวายหรือมะเร็งตับได้ในที่สุด

 

ใครบ้าง? ที่เสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับ

  1. ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์
  2. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  3. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  4. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
  5. ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีรสหวานมากเกินไป

 

รู้ได้อย่างไร ว่าเรามีไขมันพอกตับ?

เราสามารถทราบว่าตนเองมีภาวะไขมันพอกตับได้ ด้วยวิธีดังนี้

  • การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ
  • การตรวจอัลตร้าซาวด์บริเวณช่องท้องส่วนบน
  • การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  • การเจาะชิ้นเนื้อตับมาตรวจ
  • การตรวจระดับความแข็งของตับและวัดปริมาณไขมันในตับด้วยเครื่อง FibroScan

 


การป้องกันภาวะไขมันพอกตับ

  • ในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์ ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมัน หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยา หรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

 

นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการป้องกันภาวะไขมันพอกตับได้ โดยจะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยที่พบว่าตนเองเป็นไขมันพอกตับส่วนใหญ่ มักมาจากการตรวจสุขภาพทั่วไป โดยไม่ได้เป็นการตรวจแบบเฉพาะเจาะจง หรือหากตรวจพบความเสี่ยงจะได้รีบปรับพฤติกรรม หรือรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

ดังนั้นหากเราทราบว่ามีความเสี่ยง หรือมีพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้ตัวเองมีภาวะไขมันพอกตับ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ และหมั่นดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

บทความโดย

นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์

แพทย์ประจำอายุรกรรมทางเดินอาหาร

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ






สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

แผนก อายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2420-2421
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn