-
MRI เทคโนโลยีที่ช่วยในการวินิจฉัยการรักษา
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
24-ส.ค.-2566

MRI เทคโนโลยีที่ช่วยในการวินิจฉัยการรักษา

การตรวจร่างกายขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่มักประกอบไปด้วย การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การวัดชีพจร และการเอกซเรย์ปอด แต่หากต้องการตรวจอวัยวะภายในแบบเชิงลึกยิ่งขึ้น และต้องการผลตรวจที่มีความละเอียดและแม่นยำสูง คงหนีไม่พ้น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ที่อาจเป็นหนึ่งในคำตอบนั้น ซึ่งทุกคนสามารถทำความเข้าใจหลักการทำงานและกระบวนการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ได้จากบทความนี้

 


ทำความรู้จัก “MRI”

MRI หรือ Magnetic Resonance Imaging คือ เครื่องมือตรวจร่างกาย ลักษณะคล้ายอุโมงค์ทรงกระบอกแนวนอน ตัวเครื่องจะปล่อยสนามแม่เหล็กความเข้มข้นสูงและคลื่นวิทยุความถี่จำเพาะ ร่วมกับการคำนวณจากระบบคอมพิวเตอร์ในการประมวลผลสร้างเป็นภาพอวัยวะ เนื้อเยื่อ หรือกระดูก ความละเอียดสูงแบบ 3 มิติ ทำให้เห็นรอยโรคหรือร่องรอยความผิดปกติในร่างกายได้อย่างชัดเจน

 

MRI vs CT Scan ต่างกันอย่างไร ?

แม้จะเป็นการตรวจแบบที่ต้องเข้าอุโมงค์เหมือนกัน แต่ทั้งสองก็มีจุดแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

  • การตรวจด้วยวิธี CT Scan จะใช้วิธีปล่อยรังสี X-ray ผ่านร่างกายของผู้ป่วย ทำให้เกิดเงาบนแผ่นรับภาพด้านหลัง ซึ่งสามารถตรวจจับการเคลื่อนที่ของโปรตอนในอวัยวะที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบได้ จึงเหมาะกับการตรวจเนื้อเยื่อ หลอดเลือด หรือสมอง ในขณะที่ MRI ไม่สามารถตรวจจับความผิดปกติในกระดูกที่ไม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบได้ จึงทำให้ CT Scan เหมาะกับการวินิจฉัยกระดูกมากกว่า
  • การตรวจด้วยวิธี MRI ใช้ตรวจอวัยวะหรือเนื้อเยื่อ โดยการตรวจด้วย MRI จะไม่ใช้สารรังสีในการตรวจ แต่จะใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าควบคู่กับอุปกรณ์รับสัญญาณคลื่นในการตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของคลื่นพลังงานในอวัยวะนั้นๆ ไม่ก่อให้เกิดรังสีตกค้าง ดังนั้นการตรวจด้วย MRI จึงมีความปลอดภัยกว่า

 


MRI ใช้กับส่วนไหนของร่างกายได้บ้าง ?

  • สมอง (MRI of Nervous System) ใช้ตรวจหาความผิดปกติในสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทเป็นหลัก โดยเฉพาะสมองที่เป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนสูง เต็มไปด้วยหลอดเลือดและเส้นประสาท การตรวจด้วย MRI จะช่วยให้มองเห็นรอยโรคได้ชัดเจน แม้จะยังไม่มีอาการ เช่น ความผิดปกติบริเวณก้านสมอง ภาวะสมองขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคเนื้องอกในสมอง หรือโรคลมชัก เป็นต้น
  • ช่องท้อง (MRI of Abdomen) ใช้ตรวจหาความผิดปกติภายในช่องท้อง ท่อทางเดินน้ำดี เหมาะสำหรับตรวจหาโรคนิ่วในทางเดินน้ำดี มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งตับ เนื้องอกมดลูก ความผิดปกติของมดลูก หรือต่อมลูกหมาก เป็นต้น
  • กระดูกสันหลัง กระดูกและข้อ (MRI of Musculoskeletal system) ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของกระดูกไขสันหลัง หมอนรองกระดูก ระบบกล้ามเนื้อและข้อต่อ ข้อเข่าได้ชัดเจนกว่าการเอกซเรย์ และสามารถระบุขอบเขตของโรคได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
  • หลอดเลือด (MRI of Blood Vessles) ใช้ตรวจหาร่องรอยการอุดตันหรือจุดที่เส้นเลือดโป่งพองขนาดเล็กในอวัยวะที่มีความซับซ้อนสูง เช่น ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง หรือการตีบตันของหลอดเลือดบริเวณไต เป็นต้น

ทั้งนี้ในการตรวจหลอดเลือดบางชนิด อาจต้องมีการให้สารทึบรังสีผ่านทางหลอดเลือดดำก่อนตรวจ เพื่อให้เห็นภาพอวัยวะหรือเนื้อเยื่อได้ชัดเจนขึ้น

 

ทำไมต้องฉีด “สารทึบรังสี” ก่อนตรวจ MRI ?

โดยปกติแล้ว สารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจจะมีชื่อว่า แกโดลิเนียม (Gadolinium) เป็นสารที่ใช้จำแนกความแตกต่างระหว่างอวัยวะที่ต้องการตรวจกับอวัยวะใกล้เคียงที่อาจซ้อนทับกันอยู่อย่างชัดเจน ซึ่งการนำสารทึบรังสีเข้าสู่ร่างกายสามารถทำได้หลายแบบขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่จะตรวจ ได้แก่ การรับประทาน การสวนผ่านทวารหนัก การฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือผ่านทางโพรงในร่างกาย และทุกครั้งที่มีการให้สารทึบรังสีต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากรังสีแพทย์เท่านั้น

อย่างไรก็ตามการฉีดสารทึบรังสีก็อาจมีผลข้างเคียงได้ ตั้งแต่ไม่กี่นาทีไปจนถึง 1 ชั่วโมงหลังได้รับสาร อาการที่สังเกตได้ เช่น คลื่นไส้ มีผื่นแดง คันตามร่างกาย เคืองตา น้ำมูกไหล หน้าหรือตัวบวม หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งร่างกายจะขับสารนี้ได้เองผ่านทางปัสสาวะภายใน 24 ชั่วโมง

แต่ในบางกรณีอาจแสดงผลข้างเคียงล่าช้าได้ถึง 1 สัปดาห์หลังได้รับสาร โดยอาการที่แสดงให้เห็นมักเป็นอาการทางผิวหนัง เช่น ผื่นหรือคันตามผิวหนัง และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาเช่นกัน

 

ขั้นตอนการตรวจ MRI

  1. คนไข้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดสำหรับการตรวจ นำอุปกรณ์ เครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากตัว รวมถึงฟันปลอม เครื่องช่วยหูฟัง ส่วนผู้ที่มีเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจหรือมีโลหะดามกระดูกให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนตรวจ
  2. หลังเปลี่ยนชุดเสร็จเรียบร้อย คนไข้จะต้องใส่อุปกรณ์รับสัญญาณภาพ โดยอุปกรณ์ที่สวมจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริเวณร่างกายที่จะตรวจ เช่น จะสแกน MRI สมอง จะต้องสวมอุปกรณ์สำหรับสวมที่ศีรษะเท่านั้น เป็นต้น
  3. หลังติดตั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว คนไข้จะต้องนอนลงบนเตียงตรวจ เจ้าหน้าที่จะทำการจัดท่านอนให้ถูกต้อง และติดแถบรัดตัวคนไข้ ป้องกันไม่ให้คนไข้เคลื่อนไหวขยับออกจากตำแหน่ง และสวมใส่โฟมอุดหู ป้องกันเสียงดังรบกวนจากการปล่อยคลื่นความถี่วิทยุ
  4. เจ้าหน้าที่จะควบคุมเครื่องเคลื่อนคนไข้เข้าไปในอุโมงค์ และในระหว่างการตรวจผู้ป่วยต้องไม่ขยับหรือเคลื่อนไหว เพื่อให้ภาพที่สแกนออกมาชัดเจนที่สุด

ทั้งนี้ ระยะเวลาในการตรวจขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ต้องการตรวจ โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีต่อการตรวจ 1 ครั้ง หรือในบางกรณีที่มีการตรวจหัวใจและช่องท้อง ผู้ป่วยจะต้องกลั้นหายใจ หรือห้ามกลืนน้ำลาย โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้สัญญาณ




ข้อดีของการตรวจ MRI

  • สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อที่ซ้อนทับหรืออยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันได้ชัดเจนกว่า และสามารถตรวจเจอรอยโรคหรือหาความแม่นยำได้ละเอียดกว่าการตรวจด้วยเอกซเรย์ ซึ่งช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาและติดตามผลการรักษาได้อย่างแม่นยำ
  • ภายในอุโมงค์สามารถสแกนพร้อมกันได้หลายมุมมอง ทั้งแนวขวาง แนวยาว และแนวเฉียง โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องขยับร่างกายระหว่างตรวจ
  • ไม่ก่อให้เกิดรังสีตกค้าง สามารถตรวจในผู้ที่ตั้งครรภ์ในช่วงเดือน 6-9 ได้ (หากแพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถเข้ารับการตรวจด้วยเครื่อง MRI ได้)
  • สะดวก รวดเร็ว ไม่ใช้เวลาตรวจนาน ไม่ต้องเตรียมตัวเยอะ และหลังตรวจเสร็จกลับบ้านได้ทันที
  • ไม่สร้างความเจ็บปวด หรืออันตรายต่อเนื้อเยื่อของผู้รับการตรวจ MRI

 

ข้อควรระวัง...เมื่อต้องทำการตรวจ MRI

  • ผู้ที่เป็นโรคกลัวที่แคบควรหลีกเลี่ยง เพราะต้องนอนอยู่ในอุโมงค์เป็นเวลาค่อนข้างนาน ไม่สามารถขยับตัวได้
  • ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ มีเหล็กดามกระดูก หรือใส่ข้อต่อเทียม เนื่องจากโลหะจะรบกวนการส่งคลื่นไฟฟ้า ภาพผลการตรวจที่ได้จะไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาลก่อนเข้ารับการตรวจด้วย MRI ทุกครั้ง
  • ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่ต้องเตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัดสมอง ตา หรือหู ซึ่งจะมีการฝังเครื่องมือแพทย์เอาไว้
  • ควรหลีกเลี่ยงในผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณดวงตา หรือสงสัยว่ามีโลหะชิ้นเล็กๆ อยู่ในดวงตา เพราะสนามแม่เหล็กจะดึงให้โลหะชิ้นนั้นขยับ ทำให้เป็นอันตรายได้
  • หากผู้ป่วยใส่เหล็กดัดฟันแบบถอดได้ ต้องถอดเหล็กดัดฟันออกก่อน เนื่องจากจะส่งผลให้ภาพที่ออกมาไม่ชัดเจน
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าก่อนตรวจ MRI เพราะเครื่องสำอาง เช่น อายแชโดว์ หรือมาสคาร่าอาจมีส่วนผสมของโลหะ ทำให้ภาพผิดเพี้ยนได้
  • หากไม่มีความจำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการตรวจ MRI ในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก

 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ MRI

  • ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดน้ำ หรืออาหารก่อนตรวจ ยกเว้นผู้ที่จำต้องทำการตรวจภายในอวัยวะช่องท้องหรือระบบทางเดินน้ำดี
  • กรณีผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือ เช่น เป็นโรคกลัวที่แคบ อาจจำเป็นต้องให้ยานอนหลับหรือยาสลบก่อนตรวจ
  • งดแต่งหน้าหรือใช้เครื่องสำอางก่อนตรวจ เนื่องจากเครื่องสำอางหลายชนิดมีสารโลหะผสมอยู่
  • ถอดเครื่องประดับหรืออุปกรณ์ที่มีโลหะเป็นส่วนผสมก่อนการตรวจ ส่วนผู้ที่มีโลหะอยู่ในร่างกาย ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องรังสีก่อนตรวจทุกครั้ง
  • การเข้าอุโมงค์อาจทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวได้ จึงควรผ่อนคลายตัวเอง ทำใจให้สงบก่อนขึ้นเตียงตรวจ

 

MRI เป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพสูงและทันสมัย สามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาต่อไปได้อย่างดี แม้การตรวจ MRI จะมีราคาค่อนข้างสูง และใช้เวลานานกว่าการตรวจอื่นๆ แต่เมื่อเทียบกับผลที่ได้ออกมาแล้ว เทียบไม่ได้กับเงินทองและเวลาอันน้อยนิดที่เสียไป

บทความโดย
นายแพทย์อนันต์ สัจจะมุนีวงศ์
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn