-
อาการปวดหน้าแข้ง โรคยอดฮิตกวนใจในหมู่นักวิ่ง
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
18-ส.ค.-2566

อาการปวดหน้าแข้ง โรคยอดฮิตกวนใจในหมู่นักวิ่ง

อาการปวดหน้าแข้ง หรือที่เรียกว่า ‘โรคกล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ’ เป็นอาการที่เกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะกับผู้ที่ออกกำลังกายหนัก มีการใช้แรงขาหักโหมอย่างนักวิ่ง ซึ่งอาการปวดหน้าแข้งนี้ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่ลง วันนี้ โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับอาการปวดหน้าแข้งมาฝาก เพื่อเราจะได้รู้วิธีป้องกัน ลดความเสี่ยง และเข้าถึงการรักษาที่ถูกต้อง

 

สาเหตุของอาการปวดหน้าแข้ง

สาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดหน้าแข้ง ส่วนใหญ่มักมาจากการออกกำลังกายอย่างหนัก จนเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือเนื้อเยื่ออ่อนรอบกระดูก โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการปวดหน้าแข้ง มีดังนี้

  • การวิ่งอย่างหักโหมเกินไป เช่น วิ่งเร็ว วิ่งนาน หรือมีการเพิ่มระยะทางการวิ่งมากเกินไป รวมถึงการวิ่งบนพื้นที่ไม่เรียบ และการวิ่งผิดท่าด้วย
  • การยืดกล้ามเนื้อขาก่อนและหลังออกกำลังกายน้อยเกินไป
  • การสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสมกับการวิ่ง เช่น รองเท้าหลวมหรือคับเกินไป สวมรองเท้าที่แข็งเกินไป หรือสวมรองเท้าเสื่อมสภาพที่ไม่เหมาะกับการใช้งานแล้ว
  • คนที่มีความผิดปกติทางรูปเท้า เช่น มีลักษณะเท้าแบน เท้าล้ม หรือมีท่าทางการวิ่งแล้วปลายเท้าหันออกด้านนอกมากเกินไป

 


อาการปวดหน้าแข้งแบบไหน? ที่ควรพบแพทย์!

โดยทั่วไป อาการปวดหน้าแข้งจะรู้สึกปวดบริเวณหน้าแข้ง กดกล้ามเนื้อบริเวณหน้าแข้งแล้วรู้สึกเจ็บ หรือปวดตุบๆ ตามจังหวะของชีพจร ซึ่งหากได้รับการพักฟื้น หรือออกกำลังกายแล้วประคบเย็น อาการก็จะดีขึ้นตามลำดับ แต่หากมีอาการปวดหน้าแข้งเกิน 3 วัน หรือมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น หน้าแข้งบวมอย่างเห็นได้ชัด มีแผล มีรอยช้ำ รู้สึกชา หรือแรงขาอ่อนล้าจนไม่สามารถเดินได้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการอย่างละเอียด และรับการรักษาอย่างถูกต้อง

 

อาการปวดหน้าแข้ง แค่ดูแลให้ดี...รักษาได้

เมื่อมีอาการปวดหน้าแข้งจากการออกกำลังกายหรือเกิดอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงนัก อาจดูแลตนเองเบื้องต้นได้ดังนี้

  • หยุดกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดหน้าแข้ง หรือลดความหนักของการออกกำลังกายลงจนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • สามารถประคบเย็นเพื่อช่วยลดการอักเสบ โดยให้ประคบเย็นประมาณ 15-30 นาที ทุกๆ 2-4 ชั่วโมง จนอาการดีขึ้น
  • ยกขาสูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดอาการบวมได้
  • ก่อนออกกำลังกายควรยืดกล้ามเนื้อทุกส่วนให้เพียงพอ
  • หากมีปัญหาเท้าแบน ควรสวมรองเท้าที่เสริมส้นด้านใน หรือสั่งตัดรองเท้าพิเศษที่เหมาะสมกับเท้า
  • ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีน แคลเซียม หรือวิตามินดีสูง เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกให้แข็งแรง
  • วิ่งในระยะทางที่เหมาะสม ไม่หักโหมเกินไป และไม่วิ่งบนพื้นที่ขรุขระ
  • บริหารกล้ามเนื้อด้วยท่าบริหารรูปแบบต่างๆ หรือการทำกายภาพบำบัด

 

ทั้งนี้ เมื่อมีอาการบาดเจ็บ ปวดหน้าแข้ง หรือเกิดความผิดปกติที่ผิดสังเกต ดูแลตัวเองแล้วไม่หาย อย่าปล่อยความสงสัยไว้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษา และฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงอย่างถูกวิธี

บทความโดย
นายแพทย์ กษิดิศ ศรีจงใจ 
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn