-

นายแพทย์ อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์

แพทย์ประจำอายุรกรรมทางเดินอาหาร

วุฒิบัตร

สาขาอายุรกรรมทางเดินอาหาร
วัน เวลา
จันทร์ 08:00 - 12:00
อังคาร 08:00 - 10:00
พุธ 07:00 - 16:00
พฤหัสบดี 07:00 - 16:00
ศุกร์ 08:00 - 12:00
อาทิตย์ 13:00 - 20:00

นพ.อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์

อายุรแพทย์ทางเดินอาหารและตับ
คลินิกทางเดินอาหารและตับ
รพ.เปาโล สมุทรปราการ

การศึกษา

  • แพทยศาสตรบัณฑิต โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • วุฒิบัตรอายุรศาสตร์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลจุฬา

"ในช่องท้องของคนเรามีอวัยวะหลายอย่าง อาการในแต่ละตำแหน่งก็บ่งบอกถึงความผิดปกติที่ไม่เหมือนกัน ถ้าคนไข้ปวดท้องมา หมอก็ต้องถามว่า... ปวดแบบไหน ปวดอย่างไร ปวดตลอดเวลาหรือเปล่า คือต้องถามอย่างละเอียด เพราะทุกการถาม-ตอบจะมีประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคว่าน่าจะเป็นอะไร ที่อวัยวะใด จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันโรคหรือไม่ หากพบว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหมอก็จะเป็นผู้รักษาเอง ส่วนการตรวจแบบส่องกล้องก็จะทำในเคสที่มีความน่าสงสัยหรือคนไข้ต้องการตรวจเพื่อคัดกรองโรค ก็จะทำให้เราเห็นรอยโรคชัดเจน และหากพบเนื้องอกขนาดเล็ก หมอก็จะตัดและนำชิ้นเนื้อออกในขณะทำการส่องกล้องได้เลย"

นพ.อัครวุฒิ จันทราพิรัตน์ จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นได้ไปเป็นแพทย์ใช้ทุนในลักษณะแพทย์พี่เลี้ยงที่โรงพยาบาลหาดใหญ่เป็นเวลา 4 ปี ซึ่งทำให้คุณหมอสามารถสอบบอร์ดวุฒิบัตรเป็นอายุรแพทย์ได้อย่างต่อเนื่องในทันที...

"หมออยากเป็นแพทย์มาตั้งแต่เด็กๆ เพราะมีความประทับใจเมื่อครั้งวัยเด็กที่เราป่วยแล้วไปหาหมอ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าหมอใจดี รักษาเก่ง พอโตมาก็เห็นว่าเป็นอาชีพที่ดี เพราะนอกจากจะเลี้ยงชีพได้แล้วยังเป็นการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมด้วย คือสามารถทำให้คนที่เขาป่วยไข้ไม่สบายหายจากโรค กลับมาแข็งแรง และอยู่อย่างมีความสุขได้"

โรคทางเดินอาหารและตับ ตรวจได้ เห็นชัด รักษาทันที

คนไข้ที่คุณหมออัครวุฒิ รักษาบ่อยที่สุด มักจะมาด้วยอาการปวดท้อง กับปัญหาระบบการขับถ่ายที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นท้องเสียหรือท้องผูก ถ้าเป็นอาการท้องเสียโดยส่วนใหญ่จะเป็นในระยะสั้นที่เพิ่งเป็นไม่กี่วัน แต่ถ้ามีอาการท้องผูก ส่วนใหญ่คนไข้จะเป็นมาสักพักหนึ่งแล้วจึงมาพบคุณหมอ ซึ่งการตรวจก็ต้องเริ่มจากการซักประวัติและดูจากอาการที่เป็น

ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินอาหารมีความสะดวก ปลอดภัย และคนไข้ไม่ต้องเจ็บตัวมากเหมือนในสมัยก่อน โดยแพทย์จะมีวิธีตรวจด้วยการส่องกล้องเพื่อให้เห็นรอยโรคได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยแต่การเอกเซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการทำ MRI เท่านั้น ภาพที่เห็นยังมีความชัดเจน เห็นเป็นสีจริงเหมือนมองด้วยตาตนเอง และการรักษาบางอย่างยังสามารถทำได้ในขณะที่ตรวจด้วยการส่องกล้องได้ด้วย...

"การส่องกล้องทางเดินอาการและลำไส้ให้คนไข้แต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของโรคหรืออาการที่คนไข้เป็น การตรวจด้วยวิธีนี้ก็เป็นเหมือนการพิสูจน์หรือยืนยันโรคที่เราคาดการณ์ เพราะจะได้เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจริงว่าเข้ากันกับอาการที่เขาเป็นหรือเปล่า แต่ในส่วนของตับแม้จะมีอยู่หลายโรค แต่อาการส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างชัดเจน คือถ้าคนไข้มาด้วยอาการแบบนี้ ตรวจร่างกายเป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่ก็จะสามารถระบุโรคได้เลยว่าเป็นอะไร แนวทางการรักษาก็ค่อนข้างชัดเจนและเฉพาะเจาะจง"

เมื่อพบสัญญาณเสี่ยง...การส่องกล้องย่อมสำคัญ

เมื่อคนไข้มาพบคุณหมออัครวุฒิ นอกจากการซักประวัติแล้ว คุณหมอจะพิจารณาถึงสัญญาณอันตรายที่บอกถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น มีเลือดออก ถ่ายมีสีดำหรือมีเลือดปน น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ เคยรักษาด้วยการกินยาแล้วก็ไม่ดีขึ้น หรือเป็นเรื้อรังมานาน ถ้ามีองค์ประกอบเหล่านี้ก็จะแนะนำให้คนไข้ทำการตรวจโดยการส่องกล้อง เพื่อวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด...

"ปัจจุบัน อุปกรณ์ที่ใช้มีขนาดเล็กลงมาก จึงไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมาน และตัวกล้องก็มีความคมชัดกว่าแต่ก่อนมาก จึงช่วยให้คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งกระเพาะอาหารได้ดี คนทั่วไปก็เริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น เพราะสามารถมาตรวจเพื่อคัดกรองและป้องกันโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีอาการก่อน เพราะหากเกิดโรคแล้ว บางทีการรักษามันก็จะยาก และถ้ามาในตอนที่โรคกระจายไปเยอะแล้วอาจถึงจุดที่รักษาให้หายขาดไม่ได้"

สำหรับผู้ที่กังวลเรื่องการส่องกล้อง อาจจะใช้วิธีทำให้หลับในระหว่างตรวจด้วยการใช้ยาฉีด ซึ่งการใช้ยาฉีดมีข้อดีคือ ยาจะออกฤทธิ์ในระยะสั้น และเมื่อตื่นขึ้นก็จะไม่มีอาการข้างเคียงตามมา การส่องกล้องจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยคนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บหรือแม้แต่เมื่อตื่นแล้วก็จะรู้สึกเหมือนไม่ได้ทำการส่องกล้องเลย

โรคกระเพาะอักเสบต้องระวังการติดเชื้อ

อีกโรคที่คุณหมออัครวุฒิ พบบ่อย คือโรคกระเพาะอาหารอักเสบ อาจเนื่องจากคนไข้กินยาแก้ปวดหรือยาคลายเส้นบ่อยๆ กับอีกกลุ่มที่มีการติดเชื้อ H.Pylori (เอชไพโลไร) ซึ่งเชื้อตัวนี้ทนต่อความเป็นกรด มันจึงอยู่ในกระเพาะอาหารได้นานเป็นเดือนหรือว่าหลายปี และจะทำให้เกิดอาการอักเสบเรื้อรัง เป็นแผล เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร การป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือการเป็นโรคกระเพาะนั้น คุณหมอแนะนำว่า...

"หากกังวลว่าตนนั้นจะติดเชื้อ ก็สามารถเข้ามาตรวจหาเชื้อและรักษาได้ ส่วนการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ก็ควรรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ตรงเวลา ดื่มน้ำให้มาก ที่สำคัญคือควรหลีกเลี่ยงของหมักดอง อาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ที่จะไปกระตุ้นให้เกิดภาวะการสร้างกรดในกระเพาะที่มากขึ้น อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย"

หาความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากการรักษาโรคที่เชี่ยวชาญในปัจจุบัน คุณหมออัครวุฒิ ยังศึกษาหาข้อมูลใหม่ๆ ในทางการแพทย์เพื่อพัฒนาการรักษาอยู่เสมอ...

"ถึงแม้ว่าหมอจะเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านทางเดินอาหารและตับอยู่แล้ว แต่หมอก็ต้องอัปเดตข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะความรู้ใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นตลอดเวลา ข้อมูลบางอย่างที่เคยได้รับการยอมรับว่าถูกต้องเหมาะสมในอดีต แต่ปัจจุบันอาจได้รับการพิสูจน์ใหม่แล้วว่าไม่ถูกต้อง หมอก็ต้องปรับการรักษาใหม่ ในการดูแลคนไข้หมอก็จะดูแลแบบองค์รวม หากหมอเจอปัญหาอะไรที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะอื่นๆ ก็จะส่งให้แพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆ ร่วมดูแลรักษาด้วย เพราะแพทย์แต่ละท่านก็จะมีความเชี่ยวชาญในการรักษาที่ต่างกันในแต่ละด้าน"

นอกจากการรักษาโรคแล้ว คุณหมออัครวุฒิ ยังเป็นวิทยากรบรรยายความรู้เกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารและตับอยู่เป็นประจำ รวมถึงร่วมดูแลและให้ข้อมูลด้านโรคตับและลำไส้ในเพจ “ตับไส้ดีชีวีเป็นสุข” อีกด้วย