-
“โรคมะเร็ง” หนึ่งในโรคที่คร่าชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
02-ก.พ.-2567

“โรคมะเร็ง” หนึ่งในโรคที่คร่าชีวิตอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก

หากพูดถึงโรคมะเร็งคงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากมาย และยังมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี นั่นแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคมะเร็งมากขึ้น องค์การอนามัยโรคและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากลจึงกำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันมะเร็งโรค (World Cancer Day) เพื่อให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากขึ้นและร่วมกันต่อต้านโรคร้ายนี้

 


“โรคมะเร็ง” สาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย

              สำหรับประเทศไทย มะเร็งถือเป็นโรคอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตของคนไทยไปมากที่สุด โดยโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศชาย คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในเพศหญิง คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

 

สาเหตุของการเกิด “โรคมะเร็ง”

หลายคนอาจเข้าใจว่าสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งนั้นมาจากพันธุกรรมในครอบครัว แต่แท้จริงแล้วปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งนั้นคือปัจจัยภายนอก หรือพฤติกรรมการทำกิจกรรมต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง เช่น

  • พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารแปรรูปต่างๆ
  • การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
  • ความเครียด
  • การได้รับรังสี
  • ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิ
  • ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
  • ความอ้วน
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • ไม่ทานผัก หรือผลไม้สด

ทั้งนี้ สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งอาจเกิดจากความผิดปกติภายในร่างกายได้เช่นกันแต่มักพบในส่วนน้อย เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

 


เช็คด่วน...สัญญาณเตือนจาก “โรคมะเร็ง”

  1. มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบขับถ่ายหรือปัสสาวะ เช่น มีเลือดออก ท้องเสีย หรือท้องผูกผิดปกติ
  2. มีแผลเรื้อรังที่ไม่หาย โดยเป็นนานมากกว่า 3 สัปดาห์
  3. มีเลือดออก หรือมีสารคัดหลั่งออกมาจากบริเวณช่องต่างๆ ของร่างกายผิดปกติ เช่น หัวนม จมูก หรือช่องคลอด
  4. คลำพบก้อนตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น คลำพบก้อนที่เต้านม หรือที่อื่นๆ
  5. มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย มีอาการปวดท้อง หรือกลืนอาหารลำบาก
  6. ไฝหรือจุดเล็กๆ ตามร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น มีลักษณะโตขึ้น มีสีผิดปกติ หรือมีเลือดออก
  7. มีอาการไอที่ผิดปกติ เช่น ไอปนเลือด ไอเรื้อรัง หรือเสียงแหบ

 

ใช่ว่ามะเร็งทุกชนิดจะแสดงอาการ!?

อย่างที่ทราบกันดีว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่ก่อตัวขึ้นจากภายในร่างกาย อาการแสดงจึงขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เกิดโรค แต่ในมะเร็งบางชนิดอาจไม่มีความผิดปกติของร่างกายใดๆ แสดงให้เห็น ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจหามะเร็ง คือ การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง (Cancer Screening) ซึ่งเป็นการตรวจหาความผิดปกติภายในร่างกายก่อนที่จะมีอาการแสดง หากพบเจอโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะต้น ทางเลือกในการรักษาและวิธีการในการดูแลตัวเองก็จะมีมากขึ้น และทำให้โอกาสรอดนั้นมีมากขึ้นตามไปด้วย

ในปัจจุบัน การตรวจคัดกรองมะเร็งนั้นมีให้เลือกหลายรูปแบบ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การทำ Digital Mammogram หรือการ X-ray ปอด เป็นต้น

 


ดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ...ให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์
  • เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ และลดการทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด หรือมันจัด
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารประเภทปิ้ง ย่าง ไหม้เกรียม หรืออาหารแปรรูป
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละ 30-45 นาที
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และทำตัวให้ไม่เครียด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีอันตราย หรือหากจำเป็นต้องเผชิญกับสารเคมีอันตราย ควรแต่งกายให้มิดชิดและสวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างถูกต้อง
  • หมั่นสังเกตร่างกายของตนเองอยู่เสมอ หากเกิดความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจให้ชัดเจน

 

ทั้งนี้การหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำก็สามารถเป็นการตรวจคัดกรองร่างกายของตนเองได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสามารถรู้ถึงความผิดปกติหรือรอยโรคที่อาจส่งผลอันตรายได้ในอนาคต หากรู้ก่อนก็สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดโรคในอนาคต

นอกจากนี้การได้รับวัคซีนต่างๆ เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี หรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก(HPV) ก็เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างอิสระมากยิ่งขึ้น

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn