-
ทารกตัวเหลือง...ภาวะที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวัง
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
29-มี.ค.-2566

ทารกตัวเหลือง...ภาวะที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวัง

หลังจากลูกน้อยคลอดออกมาแล้ว คุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงพบเจอกับปัญหาที่สร้างความกังวลให้ไม่น้อย หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นอาการทารกตัวเหลือง แต่อาการทารกตัวเหลืองไม่ได้เป็นโรคที่ร้ายแรงหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที และหากคุณพ่อคุณแม่รู้ทันถึงอาการทารกตัวเหลือง ก็จะสามารถสังเกตและดูแลลูกน้อยได้อย่างถูกต้อง เช่นกัน

 

ทารกตัวเหลืองเกิดจากอะไร?

เกิดจากสาร บิลิรูบิน ที่มีในร่างกายทารกมากเกินไป ซึ่งปกติแล้วสารบิลิรูบินที่มาจากการแตกสลายของเม็ดเลือดแดงจะถูกกำจัดออกไปผ่านกระบวนการทำงานของตับ แต่เนื่องจากร่างกายในทารกมักมีการทำงานของตับที่ยังไม่สมบูรณ์ จึงส่งผลให้ร่างกายของทารกเกิดการสะสมของสารบิลิรูบินมากเกินที่ร่างกายต้องการ จนทำให้เกิดอาการตัวเหลือง โดยอาการตัวเหลืองส่วนใหญ่มักแสดงอาการประมาณ 3-5 วัน หลังจากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นและจางหายไปเองผ่านการทำงานของตับ และจะถูกขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระในที่สุด

 


สาเหตุที่ทำให้ทารกตัวเหลืองผิดปกติ

  1. ทารกที่มีเม็ดเลือดแดงจำนวนมากกว่าปกติ เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกสลาย สารบิลิรูบินก็จะมีมากตาม พบบ่อยในทารกที่คลอดจากคุณแม่ที่เป็นเบาหวาน
  2. ทารกที่มีเอนไซม์ G6PD บกพร่อง ส่งผลให้การแตกสลายของเม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ
  3. หมู่เลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน ทำให้การสร้างสารเหลืองในทารกมากผิดปกติ พบบ่อยในแม่ที่มีหมู่เลือด O กับลูกที่มีหมู่เลือด A หรือ B และแม่ที่มีหมู่เลือด Rh ลบ กับลูกที่มีหมู่เลือด Rh บวก
  4. เกิดความผิดปกติที่ลำไส้ เช่น ทารกได้รับน้ำนมน้อยเกินไป หรือเกิดภาวะลำไส้อุดตัน ทำให้อุจจาระออกมาปริมาณน้อย สารเหลืองจึงถูกขับออกมาน้อยตาม และดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการสะสมแทน
  5. ปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการกินนมแม่ ทำให้ได้รับน้ำนมที่ไม่เพียงพอ เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่มีภาวะดูดนมยาก ลิ้นติด น้ำหนักแรกเกิดน้อย เป็นต้น
  6. อาการอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ตับอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ทางน้ำดีตีบหรือโป่งพอง เป็นต้น

 

เหลืองแค่ไหน...ถึงเป็นภัยต่อทารก

โดยทั่วไปแล้วอาการตัวเหลืองของทารก มักมีลักษณะตัวเหลืองจางๆ เมื่อผ่านไป 3-5 วัน อาการตัวเหลืองจะค่อยๆ จางหายไป แต่หากสังเกตเห็นผิวของทารกมีสีเหลืองจัดตั้งแต่ศีรษะถึงฝ่าเท้า หรือมีอาการเหลืองนานเกิน 7 วัน หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีอาการซึม อาเจียน ปัสสาวะหรืออุจจาระมีสีซีดหรือเข้มกว่าปกติ อาการเหล่านี้แสดงถึงสารสีเหลืองในร่างกายมีมากเกินไป หากปล่อยไว้สารนี้อาจซึมเข้าสู่สมองทำให้เกิดอาการผิดปกติทางสมองได้




การรักษา “ทากรตัวเหลือง”

ทารกที่มีอาการตัวเหลืองจะต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อหาค่าของสารสีเหลืองในร่างกาย ซึ่งการรักษาอาการตัวเหลืองในทารกสามารถแบ่งการรักษาได้ตามความรุนแรงของปริมาณสารเหลือง โดยแบ่งการรักษาได้ดังนี้

  1. ให้นมทารกให้บ่อยที่สุด ประมาณวันละ 8-12 ครั้งต่อวัน ซึ่งเป็นวิธีรักษาทารกตัวเหลืองโดยธรรมชาติ วิธีนี้จะเป็นการเร่งการขับถ่ายอุจจาระออกมา เนื่องจากสารเหลืองจะถูกขับออกมาพร้อมกับของเสียเหล่านี้ วิธีนี้เหมาะสำหรับทารกที่มีสารเหลืองไม่สูงมาก
  2. รักษาด้วยยา หากทารกที่กินนมแม่แล้วอาการทารกตัวเหลืองยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะใช้ยาชีววัตถุที่สามารถรักษาตัวเหลืองในทารก เช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
  3. การส่องไฟ หากสารเหลืองในทารกมีปริมาณมากผิดปกติ จะต้องใช้วิธีการส่องไฟ โดยเป็นการใช้หลอดไฟชนิดพิเศษเป็นคลื่นแสงสีฟ้าส่องให้ระดับสารสีเหลืองในทารกลดระดับลงจนอยู่ในระยะที่ปลอดภัย วิธีนี้จะเป็นการเปลี่ยนสารสีเหลืองในร่างกายให้เป็นสารที่ละลายน้ำได้ เพื่อให้สารสามารถถูกขับออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระได้ง่ายขึ้น
  4. การเปลี่ยนถ่ายเลือด หากใช้วิธีส่องไฟแล้วสารเหลืองในทารกยังไม่ลดลง หรือทารกเริ่มแสดงอาการทางสมอง จะต้องทำการเปลี่ยนถ่ายเลือดเพื่อลดระดับสารเหลืองลง โดยนำเอาเลือดที่มีสารเหลืองออกจากทารก และนำเลือดอื่นเข้าไปทดแทนเลือดที่เสียไป เพื่อทำให้สารเหลืองในทารกลดลงอย่างทันท่วงที โดยวิธีนี้เป็นวิธีที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นจึงจะใช้เมื่อมีสารเหลืองสูงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อทารกเท่านั้น

 

นอกจากนี้ การรักษาอาการทารกตัวเหลืองด้วยวิธีการดื่มน้ำมากๆ เพราะน้ำไม่ได้ช่วยให้สารสีเหลืองลดลง และการนำทารกไปรับแสงแดดก็ไม่สามารถช่วยให้อาการทารกตัวเหลืองหายหรือดีขึ้นได้ ดังนั้นทารกที่มีอาการตัวเหลืองควรเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องที่โรงพยาบาลเท่านั้น

บทความโดย

แพทย์หญิงวรรณดี คิดรุ่งเรือง

แพทย์ประจำสาขากุมารเวชทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn