ตามัวเหมือนหมอกลง สัญญาณเตือน! “โรคต้อกระจก”
ผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยจำนวนมากมักประสบปัญหาสายตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน หรือสายตาสั้นลงเรื่อยๆ แต่อาจคิดว่าเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นตามปกติเมื่ออายุมากขึ้น จึงปล่อยปละละเลยไม่ได้ทำการตรวจรักษา โดยที่ไม่รู้ว่าอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคที่เกี่ยวกับดวงตาอย่าง “โรคต้อกระจก” ได้ ดังนั้นหากเรามีความรู้และเข้าใจถึงอาการและสาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจก เราก็จะสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง หรือเข้ารับการตรวจรักษาได้อย่างทันท่วงที
ทำความรู้จัก “ต้อกระจก” ว่าคืออะไร?
ต้อกระจกเป็นโรคต้อชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นบริเวณเลนส์ตา โดยปกติแล้วเลนส์ตาจะมีลักษณะใส มีหน้าที่ในการรวมแสงให้ตกกระทบไปยังจอประสาทตา จากนั้นสมองจึงประมวลผลให้เกิดเป็นภาพขึ้นมา ซึ่งต้อกระจกที่เกิดขึ้นจะทำใหเลนส์ตามีลักษณะขุ่นหรือแข็ง ส่งผลให้การรวมแสงเพื่อส่งไปยังจอประสาทตาลดประสิทธิภาพลง จนเกิดเป็นอาการตาพร่ามัวหรือมองเห็นไม่ชัด ซึ่งโรคต้อกระจกจะพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเริ่มเกิดได้ทั้งจากบริเวณกลางเลนส์ตาหรือขอบเลนส์ตา และเกิดได้กับตาข้างใดข้างหนึ่งหรือเกิดกับตาทั้ง 2 ข้างพร้อมกันก็ได้
การเกิดโรคต้อกระจก...มีสาเหตุจากอะไร?
โรคต้อกระจก เกิดจากโครงสร้างของโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของเลนส์ตามีการเสื่อมสภาพตามวัย จึงพบบ่อยในผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น
- ได้รับแสงอัลตราไวโอเลต (UV) เข้าสู่ดวงตาเป็นเวลานาน เช่น แสงจากดวงอาทิตย์ แสงสีฟ้าจากโทรศัพท์มือถือ และแสงจากการเชื่อมเหล็ก
- เกิดความผิดปกติในระหว่างที่อยู่ในครรภ์ เช่น มารดาเกิดการติดเชื้อหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ ส่งผลให้ทารกเป็นโรคต้อกระจกโดยกำเนิด
- ได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณดวงตา หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา เช่น โดนกระแทก หรือถูกของมีคมบาดบริเวณดวงตา มีสิ่งแปลกปลอมหรือสารเคมีเข้าดวงตา
- เป็นโรคทางกายที่สามารถก่อให้เกิดต้อกระจก เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคกาแล็กโทซีเมีย หรือโรควิลสัน
- เป็นโรคทางตาที่สามารถก่อให้เกิดต้อกระจก เช่น ลูกตาติดเชื้อ ม่านตาอักเสบ หรือเคยได้รับการผ่าตัดดวงตามาก่อน
- เคยได้รับการฉายรังสีหรือฉายแสง โดยในผู้ป่วยที่เคยได้รับการฉายรังสีที่บริเวณศีรษะ มีโอกาสเป็นโรคต้อกระจกได้มากกว่าคนทั่วไป
- ได้รับยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์
- ได้รับสารพิษจากการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อกระจกได้
อาการแบบไหน? คือสัญญาณเตือนโรคต้อกระจก
- การมองเห็นเริ่มลดลง โดยเริ่มค่อยๆ เสียความคมชัดลงไป หรือรู้สึกเหมือนมีหมอกหรือฝ้ามาบดบังสายตาตลอดเวลา
- เริ่มมองเห็นภาพซ้อน
- สายตาสู้แสงสว่างไม่ได้ อาจเห็นภาพมัวในตอนกลางวัน แต่จะชัดขึ้นในตอนกลางคืนแทน
- ระดับค่าสายตาเริ่มสั้นลงจนต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยขึ้น หรือผู้ที่มีสายตายาวจะพบว่าค่าสายตาจะเริ่มกลับมาปกติ และกลายเป็นสายตาสั้นเมื่อเป็นต้อกระจก
- บางรายอาจมองเห็นสีผิดเพี้ยนไปจากเดิม
- บริเวณกลางรูม่านตาเริ่มมีสีขาวขุ่น
ระยะอาการของ “ต้อกระจก”
ระยะอาการของต้อกระจก แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะเริ่มแรก (early cataract) เป็นระยะที่เริ่มมีอาการมองเห็นภาพไม่ชัด หรือสายตาเริ่มขุ่นมัว โดยส่วนใหญ่แล้วในระยะนี้อาจยังไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงมาก เนื่องจากดวงตายังมีลักษณะเป็นปกติ เมื่อต้อกระจกเริ่มขุ่นขึ้นจึงรับรู้ถึงการมองเห็นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน
- ระยะก่อนต้อสุก (immature cataract) เลนส์ตาจะเริ่มขุ่นมากขึ้นจากระยะแรก โดยส่วนใหญ่จะเริ่มขุ่นจากตรงกลางเลนส์ก่อน ทำให้มองเห็นเป็นภาพมัวๆ เหมือนมีหมอกหรือฝ้าขึ้นมาบดบัง ความคมชัดในที่สว่างเริ่มลดลง และค่าสายตาจะเริ่มสั้นลงเรื่อยๆ
- ระยะต้อสุก (mature cataract) ระยะนี้ จากเลนส์ที่ขุ่นแค่ตรงกลางจะเริ่มกระจายออกไปรอบๆ ทำให้แก้วตากลายเป็นสีขาวทั้งเลนส์ หากแพทย์ได้ตรวจจะพบว่าไม่มีแสงสะท้อนกลับมาจากตาของผู้ที่เป็นต้อกระจกในระยะนี้ เนื่องจากแสงไม่สามารถผ่านทะลุความขุ่นที่เกิดขึ้นในเลนส์ตาได้
- ระยะต้อสุกเกิน หรือสุกงอม (hypermature cataract) ระยะนี้ เลนส์ตาจะขุ่น บวม หรืออาจรั่วอักเสบ ส่งผลให้การมองเห็นแย่ลงอย่างมาก หรือถึงขั้นไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ และหากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา อาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เป็นต้อหิน หรืออาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น
โรคต้อกระจก หายเองได้หรือไม่?
การเป็นโรคต้อกระจกไม่ว่าจะระยะไหนๆ ก็ไม่สามารถหายได้เองจากการใช้ยาหยอดตาชนิดใดก็ตาม จะต้องอาศัยการรักษาอย่างถูกวิธี โดยโรคต้อกระจกระยะแรกๆ การรักษาจะทำได้เพียงลดอาการได้ชั่วคราวเท่านั้น เช่น การตัดแว่นสายตาใหม่หรือใช้ยาหยอดตา โดยทั้งนี้การใช้ยาหยอดตาควรปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนเสมอ
แต่หากเป็นต้อกระจกในระยะรุนแรง ตาพร่ามัวจนเริ่มรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การรักษาจะทำได้โดยการผ่าตัดเท่านั้น ซึ่งการผ่าตัดต้อกระจกมีด้วยกัน 2 วิธี คือ การผ่าตัดด้วยการสลายต้อกระจก และการผ่าตัดแบบแผลเปิดกว้าง โดยรูปแบบการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับผลการวินิจฉัยและดุลพินิจของจักษุแพทย์
ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกล...ต้อกระจก
- ควรสวมแว่นกันแดด เพื่อปกป้องดวงตาจากแสงอัลตราไวโอเลต (UV)
- ควรถนอนสายตาด้วยการพักสายตาเมื่อต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินเอ อี และซี
- หลีกเลี่ยงหรือลดการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- ระมัดระวังไม่ให้ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนจากการกระแทก หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา
นอกจากนี้ การหมั่นตรวจเช็กดวงตาเป็นประจำโดยจักษุแพทย์ จะทำให้เรารู้ถึงสุขภาพของดวงตาและพบโรคต่างๆ ทางดวงตาได้เร็วขึ้น เพราะการตรวจพบความผิดปกติบริเวณดวงตาได้เร็วเท่าไหร่ ก็สามารถรักษาเพื่อไม่ให้ความผิดปกตินั้นลุกลามหรือมีผลร้ายแรงต่อดวงตาได้เร็วยิ่งขึ้น และมีโอกาสหายขาดได้มาก
บทความโดย
แพทย์หญิงพรทิพา เจริญจิตรวัฒนา
แพทย์ประจำสาขาจักษุทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนกหู ตา คอ จมูก
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร.02-363-2000 ต่อ 2540-2541
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn