-
โรคท้องร่วง ภาวะที่พ่วงด้วยเชื้อไวรัสโรต้า
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
09-พ.ค.-2566

โรคท้องร่วง ภาวะที่พ่วงด้วยเชื้อไวรัสโรต้า

โรคท้องร่วง โรคที่คนส่วนใหญ่เคยประสบด้วยตัวเอง แต่ส่วนใหญ่แล้วโรคนี้จะพบบ่อยในเด็กเล็กมากกว่าในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่ แล้วรู้หรือไม่ว่า! การเกิดโรคท้องร่วงไม่ใช่มีสาเหตุมาจากการกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะเท่านั้น แต่สามารถเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง

 

อาการอย่างไรจึงเรียกว่าเป็นโรคท้องร่วง?

โรคท้องร่วง หรืออุจจาระร่วง (Diarrhoeal Diseases) เป็นภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวผิดปกติ โดยจะมีอาการถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นมูกเลือด รวมถึงอาจมีอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีสาเหตุมาจากการได้รับเชื้อไวรัสที่เรียกว่า “โรต้าไวรัส”

 

ทำความรู้จักกับ “โรต้าไวรัส”

โรต้าไวรัส (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคติดเชื้อและโรคติดต่อ ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีหลายสายพันธุ์ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสโรต้าจะทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมน้ำหรือสารอาหารได้ จนเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง และเกิดเป็นอาการท้องเสียฉับพลัน ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงมากจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

เชื้อไวรัสโรต้ามักเจริญเติบโตได้ดีและทนต่อสภาพแวดล้อมได้นาน โดยเฉพาะในที่แห้งและเย็น จึงมักพบมากในฤดูหนาว ซึ่งการแพร่เชื้อมีอยู่หลายช่องทาง ทั้งผ่านการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ มีการสัมผัสกับเชื้อตามวัตถุต่างๆ แล้วไปสัมผัสบริเวณใบหน้าจนเข้าทางปาก ทั้งนี้เชื้อยังแพร่กระจายทางอุจจาระได้อีกด้วย

 


อาการของโรคท้องร่วง

หลังการรับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1-6 วัน ผู้ป่วยมักเริ่มมีอาการเหล่านี้

  • มีอาการถ่ายเหลววันละ 3 ครั้งขึ้นไป หรือถ่ายเป็นมูกเลือด
  • คลื่นไส้ อาเจียนบ่อย
  • แน่นท้อง ปวดท้อง ท้องอืด หรือปวดท้องรุนแรง
  • มีไข้สูง
  • ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว
  • ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือน้ำได้
  • รู้สึกหน้ามืดเป็นลม หรือช็อกหมดสติ

หากพบว่ามีอาการเข้าข่าย หรือมีความเสี่ยงว่าจะเป็นโรคท้องร่วง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้อาจกลายเป็นอาการเรื้อรัง และโรคอาจลุกลามรุนแรงจนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้

 

ท้องร่วงรักษาได้...ให้ปฏิบัติดังนี้

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคท้องร่วงจะสามารถหายได้เอง โดยอาการจะเริ่มดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่ในระหว่างนั้นควรปฏิบัติตัวเพื่อบรรเทาอาการท้องร่วงร่วมด้วย ดังนี้

  • ควรดื่มน้ำให้มากๆ และดื่มเกลือแร่ (ORS) เพื่อชดเชยน้ำการสูญเสียน้ำจากการขับถ่าย
  • งดอาหารรสจัด และอาหารที่มีกากใยสูง ควรเลือกอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย และปรุงสุกเท่านั้น
  • หมั่นสังเกตดูสีของปัสสาวะ หากยังมีสีเข้มอยู่ แสดงว่ายังดื่มน้ำไม่เพียงพอ ควรดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำเกลือแร่เพิ่มขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาหยุดถ่าย เพราะจะทำให้ลำไส้เก็บเชื้อโรคเอาไว้เป็นเวลานาน

หากปฏิบัติตามดังนี้แล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ่ายเป็นมูกเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีก่อนที่จะเกิดภาวะช็อกหรือหมดสติ

 


แม้จะรักษาได้...แต่การป้องกันโรคย่อมดีกว่าป้องกัน

  1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด
  2. ล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำสะอาดก่อนรับประทาน
  3. ถ่ายอุจจาระในห้องสุขาที่ถูกสุขลักษณะหรือมิดชิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  4. ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่บ่อยๆ ครั้งละ 15-20 วินาที เพื่อชำระสิ่งสกปรกออกให้หมด

ทั้งนี้ การใช้แอลกอฮอล์เจลก็ไม่สามารถทดแทนการล้างมือได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสโรต้า เป็นไวรัสกลุ่ม Non-enveloped virus ซึ่งทนต่อกรดและแอลกอฮอล์ ดังนั้นควรหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอจะดีกว่า

 

แม้โรคท้องร่วงส่วนใหญ่จะสามารถหายเองได้ แต่ในบางรายอาจมีความรุนแรงและสร้างภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ ดังนั้นการป้องกันโดยหมั่นรักษาสุขอนามัยเพื่อไม่ให้เกิดโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักถึง เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเองและปราศจากโรคท้องร่วง

บทความโดย
นายแพทย์อาจ 
พรวรนันท์

แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn