-
รู้ลึก รู้จริงกับ “ผลตรวจสุขภาพ” ป้องกันโรคง่ายๆ เพียงอ่านค่าเป็น
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
24-ธ.ค.-2567

รู้ลึก รู้จริงกับ “ผลตรวจสุขภาพ” ป้องกันโรคง่ายๆ เพียงอ่านค่าเป็น

ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพไหนๆ จะมีสิ่งที่เรียกว่า “ผลตรวจสุขภาพ” ซึ่งจะมีตัวเลขต่างๆ ระบุเกี่ยวกับค่าต่างๆ ในร่างกาย แต่หลายคนพอเห็นผลตรวจสุขภาพแล้วกลับมีคำถามว่า แล้วค่าต่างๆ เหล่านี้มันหมายความว่าอย่างไร ซึ่งจะดีกว่าไหม? หากเรารู้เกี่ยวกับค่าต่างๆ บนผลตรวจสุขภาพ

 ในบทความนี้จะมาแนะนำเกี่ยวกับค่าต่างๆ ของผลตรวจสุขภาพให้เข้าใจกัน ว่ามีอะไรบ้างที่เราควรรู้ และการอ่านค่าเป็นก็จะยิ่งช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันโรคร้ายที่อาจแฝงอยู่ในร่างกาย




ทำไมการตรวจสุขภาพถึงสำคัญ?

การตรวจสุขภาพเป็นเหมือนกระจกสะท้อนสุขภาพในร่างกายที่บอกว่าอวัยวะของเรากำลังทำงานเป็นอย่างไร การตรวจสุขภาพที่ดีจะช่วยให้เรารู้เท่าทันความเสี่ยงของโรค ช่วยให้สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตได้ก่อนที่โรคจะเกิดขึ้นจริง การรู้ผลตรวจในด้านต่างๆ ช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าจะดูแลสุขภาพอย่างไรให้สอดคล้องกับสภาพร่างกาย

 

ทำความรู้จักค่าผลตรวจที่สำคัญ และการอ่านค่าต่างๆ

การอ่านค่าผลตรวจไม่ใช่เรื่องยาก หากเรารู้และเข้าใจถึงความหมายของค่าต่างๆ เหล่านั้นบนผลตรวจสุขภาพ ก็จะช่วยให้เราตัดสินใจดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม

1. ระดับน้ำตาลในเลือด (Blood Glucose) :

ระดับน้ำตาลในเลือดเป็นสัญญาณที่บ่งบอกการทำงานของอินซูลินในร่างกาย ค่าน้ำตาลในเลือดที่สูงอาจบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของโรคเบาหวาน

- Fasting Blood Sugar (FBS) : ระดับน้ำตาลขณะงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

  • ค่าปกติ : 70-99 mg/dL
  • เข้าข่ายเสี่ยงโรคเบาหวาน : 100-125 mg/dL
  • มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานสูง : มากกว่า 126 mg/dL ขึ้นไป (ควรตรวจซ้ำเพื่อยืนยัน หรือดูผลร่วมกับการตรวจ HbA1c)

- HbA1c : ระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือน (ทำให้รู้ถึงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ในระยะยาว)

  • ค่าปกติ : ต่ำกว่า 5.7%
  • เข้าข่ายเสี่ยงโรคเบาหวาน : 5.7-6.4%
  • มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานสูง : 6.5% ขึ้นไป

 

2. คอเลสเตอรอล (Cholesterol) :

คอเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์และฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งแบ่งเป็น LDL (คอเลสเตอรอลไม่ดี) และ HDL (คอเลสเตอรอลดี)

- LDL (Low-Density Lipoprotein) : คอเลสเตอรอลไม่ดี

  • ค่าปกติ : ควรน้อยกว่า 130 mg/dL (หากมีความเสี่ยงโรคหัวใจ ควรต่ำกว่า 70 mg/dL)
  • หาก LDL สูงเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรระวังอาหารที่มีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัว เพราะจะทำให้ LDL สูงขึ้น

- HDL (High-Density Lipoprotein) : คอเลสเตอรอลดี

  • ค่าปกติ : ควรมากกว่า 40 mg/dL ยิ่งสูงยิ่งดี เพราะ HDL ช่วยลดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด
  • การออกกำลังกายเป็นประจำและการทานไขมันดี (เช่น น้ำมันตับปลา) จะช่วยเพิ่มค่า HDL

- คอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol)

  • ค่าปกติ: ควรน้อยกว่า 200 mg/dL

3. ค่าไขมันในเลือด (Triglycerides) : มักได้รับจากอาหารประเภท ข้าว, แป้ง, น้ำตาล, เหล้า และเบียร์

  • ค่าปกติ : ควรน้อยกว่า 150 mg/dL

หากสูงกว่า 200 mg/dL ถือว่าสูง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ค่าที่สูงขึ้นมักเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไขมันทรานส์ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์

 

4. ความดันโลหิต (Blood Pressure) :

ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด ค่าความดันโลหิตประกอบด้วย 2 ตัวเลข

- ค่าความดันตัวบน (Systolic)

  • ค่าปกติ : ไม่ควรเกิน 140 mmHg

- ค่าความดันตัวล่าง (Diastolic)

  • ค่าปกติ : ไม่ควรเกิน 90 mmHg

ค่าความดันโลหิตที่แนะนำควรอยู่ที่ประมาณ 120/80 mmHg หากสูงกว่า 130/80 mmHg ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (ในบางรายอาจเป็นผู้ที่มีความดันโลหิตสูงเป็นปกติ จึงพบค่าความดันที่สูงกว่าคนทั่วไปได้)

 

5. ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count : CBC) :

ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด บ่งบอกถึงเลือดของเราว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการตรวจนับปริมาณเม็ดเลือด และลักษณะของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด

- จำนวนเม็ดเลือดแดง (Red Blood Cells : RBC) : เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ในการขนส่งออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย การตรวจนี้มักใช้เพื่อประเมินภาวะโลหิตจาง (Anemia) หรือภาวะเม็ดเลือดแดงสูงผิดปกติ (Polycythemia)

  • ค่าปกติ : ผู้ชาย : 4.7-6.1 ล้านเซลล์/ไมโครลิตร , ผู้หญิง : 4.2-5.4 ล้านเซลล์/ไมโครลิตร

หากปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำ อาจบ่งบอกถึงภาวะโลหิตจาง ซึ่งอาจเกิดจากการขาดธาตุเหล็ก หรือภาวะเลือดออก แต่หากสูงเกินไป อาจบ่งชี้ถึงภาวะที่ร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น

- ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin : Hb/HGB) : ฮีโมโกลบินเป็นโปรตีนในเม็ดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจน การวัดระดับฮีโมโกลบินช่วยให้ทราบเกี่ยวกับภาวะโลหิตจางและการทำงานของร่างกายในการขนส่งออกซิเจน

  • ค่าปกติ : ผู้ชาย : 13.8-17.2 g/dL , ผู้หญิง : 12.1-15.1 g/dL

หากค่าฮีโมโกลบินต่ำอาจบ่งบอกถึงโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กหรือการสูญเสียเลือด แต่หากค่าสูงอาจเกี่ยวข้องกับภาวะขาดน้ำหรือโรคที่ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงมากเกินไป

- ฮีมาโตคริต (Hematocrit : Hct) : ฮีมาโตคริตเป็นเปอร์เซ็นต์ของเม็ดเลือดแดงในปริมาณเลือดทั้งหมด ค่านี้ช่วยประเมินภาวะโลหิตจางและภาวะเม็ดเลือดแดงสูงผิดปกติ

  • ค่าปกติ : ผู้ชาย : 40.7-50.3% , ผู้หญิง : 36.1-44.3%

ค่าต่ำอาจบ่งบอกถึงภาวะโลหิตจางหรือการสูญเสียเลือด หากค่าสูงอาจบ่งชี้ว่าร่างกายกำลังขาดน้ำ มีปัญหาในการผลิตเม็ดเลือดแดงมากเกินไป หรือมีภาวะเลือดข้น

- เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells : WBC) : เม็ดเลือดขาวเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อ ค่าที่ผิดปกติอาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อหรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน

  • ค่าปกติ : 4,500-11,000 เซลล์/ไมโครลิตร

การที่ค่าสูงอาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อ อักเสบ หรือการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียดในร่างกาย ส่วนค่าต่ำอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อที่กดระบบภูมิคุ้มกันหรือภาวะการสร้างเม็ดเลือดขาวในร่างกายลดลง

- เกล็ดเลือด (Platelets : PLT) : เกล็ดเลือดมีหน้าที่สำคัญในการช่วยในการแข็งตัวของเลือด ค่าที่ผิดปกติอาจส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือดหรือชี้ให้เห็นถึงปัญหาทางระบบไหลเวียนโลหิตในร่างกาย

  • ค่าปกติ : 150,000-450,000 เกล็ด/ไมโครลิตร

ค่าที่ต่ำเกินไปอาจบ่งบอกถึงภาวะเลือดออกง่ายหรือการติดเชื้อบางชนิดที่ทำลายเกล็ดเลือด และค่าที่สูงเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดที่ไม่พึงประสงค์ในหลอดเลือด

 

6. ค่าเอนไซม์ตับ (Liver Enzymes) หรือการทำงานของตับ (Liver Function Test : LFT) :

ค่าเอนไซม์ตับบ่งบอกถึงการทำงานของตับและการอักเสบของตับ และดูการทำงานของตับว่าผิดปกติหรือไม่ ค่าเอนไซม์ที่มักตรวจได้แก่

- AST (Aspartate Aminotransferase) และ ALT (Alanine Aminotransferase)

  • ค่าปกติ : 10-40 U/L (ทั้ง AST และ ALT)

ค่าสูงเกินไปบ่งชี้ถึงความเสี่ยงของปัญหาตับ เช่น การอักเสบหรือตับอักเสบเรื้อรัง

 

7. ค่าการทำงานของไต (Kidney Function) :

การทำงานของไตเป็นการวัดว่าร่างกายกำจัดของเสียและรักษาสมดุลน้ำในร่างกายได้ดีเพียงใด ซึ่งเป็นการวัดด้วยกัน 2 ค่า ได้แก่

- ค่า BUN (Blood Urea Nitrogen)

  • ค่าปกติ : 7-20 mg/dL

- ค่า Creatinine

  • ค่าปกติ : 0.6-1.2 mg/dL (ขึ้นกับเพศและอายุ)

หากค่าเหล่านี้สูงเกินปกติอาจบ่งชี้ว่าร่างกายขาดน้ำหรือมีปัญหาในการทำงานของไต หรือการกรองของเสียในไตอาจมีปัญหา

 

8. กรดยูริก (Uric Acid) :

กรดยูริกเป็นผลพลอยได้จากการสลายตัวของพิวรีน ซึ่งเป็นสารที่พบในอาหารบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากระดับกรดยูริกในเลือดสูงเกินไป อาจทำให้เกิดการสะสมในข้อต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเกาต์ (Gout) หรือปัญหาเกี่ยวกับไตได้

  • ค่าปกติขอกรดยูริกในเลือด : ผู้ชาย : 3.4-7.0 mg/dL , ผู้หญิง : 2.4-6.0 mg/dL

ค่าที่สูงกว่าปกติ อาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกาต์ นิ่วในไต หรือปัญหาเกี่ยวกับการเผาผลาญพิวรีน หากมีค่าต่ำกว่าปกติ อาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนต่ำหรือมีปัญหาในการขับกรดยูริกออกจากร่างกาย

 

9. การตรวจปัสสาวะ (Urine Analysis : UA) :

การตรวจปัสสาวะสามารถบอกถึงปัญหาทางเดินปัสสาวะ โรคเบาหวาน การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคไตได้ โดยเป็นการตรวจลักษณะทางกายภาพ สี กลิ่น ความใสของน้ำ สารเคมีหรือสารเจือปนต่างๆ ที่อยู่ในปัสสาวะ




การติดตามและตรวจสุขภาพซ้ำ (Follow-Up)

เมื่อรู้ถึงความหมายของตัวเลขจากผลตรวจสุขภาพของเราแล้ว หากพบความผิดปกติก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ตัวเลขกลับมาอยู่ในค่าที่ปกติ แต่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไม่ใช่สิ่งที่เห็นผลได้ในทันที แต่ควรติดตามผลตรวจสุขภาพทุก 3-6 เดือนเพื่อเช็คผลลัพธ์ เช่น ถ้าค่าคอเลสเตอรอลลดลงหลังปรับพฤติกรรม นั่นแสดงว่าคุณมาถูกทางแล้ว การตรวจซ้ำจะช่วยให้เรามั่นใจว่าเราอยู่ในเส้นทางการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง และปรับพฤติกรรมได้ตามต้องการ

 

อ่านค่าเป็น...ก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็น!

สุขภาพดีไม่ใช่แค่การอ่านค่าตัวเลขให้ถูกต้อง แต่เป็นการใส่ใจดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น การตรวจสุขภาพเป็นการติดตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและเป็นโอกาสที่เราจะได้ปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าผลตรวจของเราจะเป็นอย่างไร การใส่ใจดูแลสุขภาพจากภายในคือสิ่งที่สำคัญที่สุด



              อย่างไรก็ตาม ค่าผลตรวจสุขภาพทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแค่ค่าจากการตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น บางค่าเฉลี่ยมาตรฐานอาจไม่ตรงกับบางคนเสมอไป เนื่องจากการตรวจยังต้องอาศัยการพบแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกายด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อประกอบการวินิจฉัย และสุขภาพพื้นฐานของแต่ละคนด้วย

              หากแพทย์พบความผิดปกติหรือประเมินแล้วว่าอาจมีความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพเบื้องต้น อาจแนะนำให้ตรวจสุขภาพเพิ่มเติมด้วยเครื่องมือเฉพาะทาง เพื่อผลที่แม่นยำและทำการป้องกันการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

 

 

บทความโดย
แพทย์หญิงพรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์
แพทย์ประจำสาขาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ 
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ






สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn