มือชา เท้าชา! อาการรบกวนที่ไม่ควรปล่อยเป็นเรื่องเล็ก
หลายคนอาจเคยรู้สึก "มือชา" หรือ "เท้าชา" บางครั้งเป็นระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็หายไปเองอย่างรวดเร็ว แต่มีบางครั้งที่อาการเหล่านี้อาจกลายเป็นสิ่งที่รบกวนชีวิตประจำวันมากขึ้น จนเริ่มสร้างความกังวลใจ แล้วอาการชาเหล่านี้มันเกิดจากอะไร? และเมื่อไรที่เราควรใส่ใจ? บทความนี้จะพาคุณไปเจาะลึกถึงสาเหตุและวิธีการดูแลอาการเหล่านี้ให้ถูกต้อง เพื่อให้คุณสามารถป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างเหมาะสม
อาการมือชา เท้าชา...สัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายเตือนเรา!
อาการ "ชา" ที่เกิดขึ้นกับมือหรือเท้านั้น มักจะเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการขาดเลือดหรือเกิดปัญหาการส่งสัญญาณประสาทไปยังบริเวณนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกครั้งที่มือหรือเท้าชาจะเป็นอาการที่อันตราย แต่เราต้องสังเกตความถี่และสาเหตุที่อาจนำไปสู่อาการเหล่านี้
โดยทั่วไป อาการชาที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว อาจเกิดจากการนั่งทับขาหรือวางแขนในท่าที่ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี เมื่อเราปรับเปลี่ยนท่าทางแล้ว อาการชาก็จะหายไป แต่หากคุณมีอาการชาเป็นเวลานาน ชาไม่หาย หรือเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุชัดเจน นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคที่อาจซ่อนอยู่
มือชา เท้าชา...ปล่อยไว้อาจไม่ใช่แค่ชา
หากพบว่ามีอาการ มือชา เท้าชา แต่ปล่อยไว้เนื่องจากดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรงกว่าที่คิด!
- สูญเสียการรับรู้ความรู้สึก : เส้นประสาทที่เสื่อมสภาพอาจทำให้คุณไม่รู้สึกเจ็บเมื่อเกิดบาดแผล เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจกลายเป็นแผลเรื้อรังที่ยากต่อการรักษา
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง : หากเส้นประสาทถูกกดทับนานๆ กล้ามเนื้ออาจอ่อนแรงลง จนทำให้การเคลื่อนไหวของแขนหรือขาแย่ลง และอาจนำไปสู่ความพิการ
- เสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง : โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน แผลเล็กๆ อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่จนต้องตัดอวัยวะ เพื่อหยุดการติดเชื้อ
- โรคร้ายแรงซ่อนอยู่ : อาการชาที่ไม่สามารถอธิบายได้ อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคร้ายแรงในระบบประสาท ที่หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดความพิการถาวร
อย่าปล่อยให้อาการชาเป็นแค่เรื่องเล็ก! หากคุณเริ่มมีอาการเหล่านี้บ่อยขึ้น หรือรู้สึกว่ารุนแรงขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและป้องกันปัญหาก่อนจะสายเกินไป!
ทำไมถึงมือชา เท้าชา?
อาการชามักเกิดจากการที่เส้นประสาทถูกกดทับ ทำให้การส่งสัญญาณประสาทถูกรบกวน ส่งผลให้เลือดไม่สามารถส่งไปเลี้ยงที่เส้นประสาทที่ถูกกดทับอยู่ จนทำให้เรารู้สึกชา ร้อนวูบวาบ หรือเสียวซ่านในบริเวณนั้นๆ ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- การกดทับเส้นประสาท : การกดทับเส้นประสาทเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในกรณีที่เรานั่งหรือนอนในท่าที่ไม่เหมาะสม หรือบางครั้งอาจเกิดจากปัญหาทางโครงสร้างร่างกาย เช่น โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทที่คอหรือหลัง ส่งผลให้เกิดอาการชาที่มือหรือเท้าตามมาได้
- ร่างกายขาดวิตามินบี 12 : วิตามินบี12 มีบทบาทสำคัญในการบำรุงระบบประสาท หากร่างกายขาดวิตามินชนิดนี้ อาจทำให้เกิดอาการชาได้ เนื่องจากเส้นประสาทไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 12 เช่น ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ อาจจำเป็นต้องเสริมวิตามินเพื่อป้องกันอาการชา
- โรคเบาหวาน : ผู้ที่มีโรคเบาหวานมักมีอาการชาที่มือและเท้า เนื่องจากการทำลายเส้นประสาทจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจึงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอาการมือชา เท้าชา
- ภาวะปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) : เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของเส้นประสาทที่มือและเท้า อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การได้รับอุบัติเหตุ การติดเชื้อ การได้รับสารพิษ หรือโรคเรื้อรัง ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีรักษาที่เหมาะสม
- ภาวะเลือดไหลเวียนไม่ดี : การขาดการไหลเวียนของเลือดไปยังปลายมือหรือเท้าอาจทำให้เกิดอาการชาได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือหลอดเลือด ซึ่งส่งผลให้เกิดการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ได้ประสิทธิภาพที่เพียงพอ
- ชาจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก : โดยจะพบว่ามีอาการชาร่วมกับอ่อนแรงครึ่งซีก หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและทำการรักษาที่ทันท่วงที
อาการมือชา เท้าชา หลีกเลี่ยงได้! หากรู้จักวิธีดูแลและป้องกัน
- ปรับพฤติกรรมการนั่งและนอน : การปรับเปลี่ยนท่านั่งหรือท่านอนให้ถูกต้อง เช่น หลีกเลี่ยงการนั่งทับขานานๆ หรือการนอนทับแขน จะช่วยลดการกดทับเส้นประสาทที่อาจเป็นสาเหตุของอาการชา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ : การออกกำลังกายช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและการไหลเวียนของเลือด เพียงแค่การเดิน การยืดเหยียด และการออกกำลังกายที่เน้นกล้ามเนื้อหัวใจ ก็สามารถช่วยลดอาการชาได้
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 : การเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 สูง เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ ปลา และธัญพืช จะช่วยลดโอกาสในการเกิดอาการมือชา เท้าชาได้ นอกจากนี้ การทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงจะช่วยในการผลิตเม็ดเลือดแดง ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
- ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ : การตรวจสุขภาพประจำปีสามารถช่วยให้คุณรับรู้ถึงปัญหาทางสุขภาพที่อาจเป็นสาเหตุของอาการชาได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ทำให้สามารถป้องกันและรักษาได้ทันเวลา
อย่ารอให้ชาเป็นปัญหาใหญ่
หากพบว่าตัวเองมีอาการชาที่มือหรือเท้าเป็นเวลานาน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการปวดร่วมด้วย หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการท่าทางของอวัยวะที่ชา ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย หากพบความผิดปกติที่อาจมีโรคที่ร้ายแรงซ่อนอยู่ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเส้นประสาทถูกกดทับ ก็สามารถรักษาได้ทันท่วงทีตั้งแต่ในระยะแรกๆ
มือชา เท้าชา อาจดูเป็นเพียงอาการเล็กน้อยหรือแค่ชั่วคราว แต่ในความเป็นจริงอาการชาอาจเป็นสัญญาณที่ร่างกายของเรากำลังส่งสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพที่ซ่อนอยู่ในร่างกาย หากได้รับการดูแลและให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ก็สามารถป้องกันก่อนที่จะเจอกับอาการชาได้ และหากพบอาการชาบ่อยครั้ง ชาไม่หายไป หรือมีความผิดปกติร่วมกับอาการชา ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและตรวจหาเพื่อสาเหตุของอาการดังกล่าว “อย่าปล่อยให้อาการชาเป็นปัญหากวนใจที่รบกวนชีวิตประจำวันของคุณ”
บทความโดย
นายแพทย์ณัฐวุฒิ สุมาลัย
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn