-
ตรวจสุขภาพอะไรบ้าง ที่ควรตรวจเป็นประจำ?
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
06-ก.ค.-2566

ตรวจสุขภาพอะไรบ้าง ที่ควรตรวจเป็นประจำ?

หลายคนคงได้รับคำแนะนำอยู่บ่อยๆ ว่า “ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ” แต่พอได้ยินแบบนี้ก็อาจเกิดความสงสัยว่า การตรวจสุขภาพเป็นประจำมีประโยชน์อย่างไรและต้องตรวจอะไรบ้าง วันนี้โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับรายการตรวจสุขภาพพื้นฐานที่ควรตรวจเป็นประจำในทุกๆ ปี ให้ทราบกัน

 


รายการตรวจสุขภาพพื้นฐานที่ควรตรวจเป็นประจำ...ทุกปี

ตรวจร่างกายทั่วไป : แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป โดยการซักประวัติสุขภาพ ร่วมกับการตรวจเบื้องต้น เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจวัดความดันโลหิตและชีพจร วัดค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งการตรวจเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ประเมินความเสี่ยงต่อโรคเบื้องต้นได้

ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) : เป็นการตรวจหาความผิดปกติของส่วนประกอบของเลือดทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ความเข้มข้นของเลือด ปริมาณเม็ดเลือด ดูรูปร่างและขนาดของเม็ดเลือด ซึ่งผลที่ได้ อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของเม็ดเลือดในโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคโลหิตจาง หรือเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย และโรคทางเลือดต่างๆ

ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด (FBS) : เป็นการตรวจวัดค่าระดับน้ำตาลในเลือด โดยผลที่ได้สามารถวินิจฉัยหรือประเมินความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้

ตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) : เป็นการตรวจระดับน้ำตาลสะสมที่อยู่ในเลือดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หากระดับน้ำตาลมีค่าสูงเกินกำหนดก็จะบอกได้ว่าเข้าสู่ภาวะการเป็นโรคเบาหวาน หากระดับน้ำตาลสูงแต่ยังไม่เกินกำหนดจะได้รีบปรับพฤติกรรม หรือหาทางป้องกันเพื่อลดความเสี่ยง

ตรวจวัดระดับไขมัน (Cholesterol) : เป็นการตรวจวัดระดับไขมันคอเลสเตอรอลที่อยู่ในเลือด หากมีระดับสูงกว่าค่าปกติ อาจทำให้เกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด และก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

ตรวจไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) : เป็นการตรวจวัดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่อยู่ในเลือด หากมีระดับสูงกว่าค่าปกติ อาจทำให้เกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด และก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) : เป็นการตรวจวัดระดับไขมันดีในร่างกายว่ามีมากน้อยแค่ไหน ถ้าค่า HDL สูงจะมีส่วนช่วยลำเลียงคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์จากหลอดเลือดแดงและเนื้อเยื่อไปทำลายที่ตับ และขับออกจากร่างกาย ทั้งยังช่วยรักษาสมดุลของเลือดอีกด้วย

ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) : เป็นการตรวจวัดระดับไขมันไม่ดีในร่างกาย สำหรับ LDL ไม่ควรมีอยู่ในร่างกายมากเกินไป เพราะถ้าค่า LDL สูงมากก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากตัวไขมัน LDL จะไปเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงตีบและแข็ง ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลง

ตรวจหากรดยูริคในเลือด (Uric acid) : เป็นการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคเก๊าต์ หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะจากมีกรดยูริกสูงเกินไป

ตรวจหน้าที่การทำงานของตับ (SGPT, SGOT, ALP) : เป็นการตรวจหาความผิดปกติของตับและทางเดินน้ำดี หากพบเอนไซม์เหล่านี้ในปริมาณมาก อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติของตับและทางเดินน้ำดี ซึ่งจะส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคทางตับ ภาวะดีซ่าน มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี หรือการอุดตันของท่อทางเดินน้ำดี

ตรวจหน้าที่การทำงานของไต (BUN, Creatinine) : เป็นการตรวจดูค่า BUN ที่วัดระดับปริมาณของเสียในร่างกายที่เกิดจากการเผาผลาญสารอาหารประเภทโปรตีน และดูระดับค่า Creatinine ซึ่งเป็นของเสียที่เกิดจากกล้ามเนื้อ ที่ต้องขับทิ้งผ่านทางไตในรูปแบบของปัสสาวะ หากมีค่าเหล่านี้สูงอาจเป็นสัญญาณว่าไตมีการทำงานที่หนักเกินไป

ตรวจปัสสาวะ (Urine Examination) : สามารถช่วยวินิจฉัยโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะได้ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคเบาหวาน โรคไต หรือผู้ที่มีค่า Ketone สูง

 


การตรวจสุขภาพเฉพาะทาง...ต้องตรวจอะไรบ้าง?

ตรวจหาเชื้อและภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบ เอ, บี, ซี : เป็นการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เพื่อวินิจฉัยความเสี่ยงต่อการอักเสบของตับ และตรวจดูระดับของภูมิคุ้มกันต่อโรคที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็งตับในอนาคต

ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ (Alpha Fetoprotein) : เป็นการตรวจหาสารโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือดที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าอาจเป็นมะเร็งตับ แต่ทั้งนี้หากพบว่าค่าสูงกว่าปกติ อาจหมายถึงการเกิดโรคทางตับอื่นๆ ที่ไม่ใช่มะเร็งได้เช่นกัน ดังนั้นหากพบค่าสูง ควรตรวจโดยละเอียดกับแพทย์เฉพาะทางอีกครั้ง

ตรวจหามะเร็งลำไส้ (CEA) : เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งระบบทางเดินอาหารหรือโรคมะเร็งลำไส้ หากพบค่า CEA ที่สูงกว่าปกติ จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ เช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Colonoscopy)

ตรวจไทรอยด์ (TSH, FT3, FT4) : เป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์จากระดับฮอร์โมนในเลือด ว่ามีการทำงานที่ผิดปกติหรือไม่ โดยกลุ่มอาการที่ควรตรวจ อาจเป็นอาการของผู้ที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น

ตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) : เป็นการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นสารที่ต่อมลูกหมากผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยสารชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นมากกว่าปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและภาวะต่อมลูกหมากโตที่ไม่ใช่มะเร็ง ดังนั้น ผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และผู้ที่มีภาวะอ้วน ควรได้รับการตรวจ เพราะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป

ตรวจหามะเร็งรังไข่ (CA 125) : เป็นการตรวจวัดค่า CA 125 ในร่างกาย เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งรังไข่ ซึ่งมักพบค่าที่สูงเกินปกติในผู้ที่เป็นมะเร็งรังไข่ ผู้ป่วยที่มีการอักเสบของอวัยวะภายในช่องท้อง หรือการอักเสบของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งหากพบว่ามีค่าสูงควรได้รับการตรวจโดยละเอียดกับสูตินรีแพทย์อีกครั้ง

 


ตรวจสุขภาพประจำปี อายุเท่าไหร่ดี...ถึงควรตรวจ?

โดยทั่วไป การตรวจสุขภาพประจำปีควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป แต่หากมีอาการน่าสงสัยเกี่ยวกับโรคต่างๆ หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคก็สามารถเข้ารับการตรวจได้ทันที เนื่องจากการตรวจสุขภาพจะทำให้เราได้รู้จักร่างกายของตนเองว่ามีรอยโรคหรือความเสี่ยงอะไรบ้าง หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อโรคใดๆ จะได้วางแผนการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะส่วนใหญ่แล้วการรักษาที่รวดเร็วจากการพบโรคในระยะเริ่มต้นจะให้ผลที่ดีกว่า

 

การตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เปรียบเสมือนการเช็กคุณภาพและสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายว่ายังดีอยู่หรือไม่ ทั้งยังเป็นเสมือนการค้นหารอยโรคตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อป้องกันหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมกับร่างกายของเรา เป็นการตรวจที่ครอบคลุมในเบื้องต้นทั้งหมด เพื่อจะได้มีข้อมูลสุขภาพโดยไม่ต้องไปตรวจในสิ่งที่เกินจำเป็นอีกด้วย

บทความโดย
แพทย์หญิงพรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์
แพทย์ประจำสาขาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ 
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn