ปวดท้องแบบไหน ให้สงสัยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
22-มิ.ย.-2565
ปวดท้องแบบไหน ให้สงสัยว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี


          นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) คือ ก้อนนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดี มักเกิดขึ้นเมื่อส่วนประกอบของน้ำดี โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลและบิลิรูบิน (สารให้สีในน้ำดี) เกิดความไม่สมดุล และมีการสะสมจนตกตะกอนเป็นก้อนผลึก โดยก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นนี้ อาจมีขนาดเล็กเท่าเม็ดทราย หรือใหญ่เท่าลูกกอล์ฟ และอาจมีได้ตั้งแต่หนึ่งก้อนจนถึงหลายร้อยก้อนก็เป็นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก้อนนิ่วจะไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ และไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ในกรณีที่โรคลุกลามหรือเกิดการอักเสบก็อาจจะต้องผ่าตัดรักษา



ชนิดของนิ่วในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดีมี 2 ชนิดหลัก ได้แก่
  1.  นิ่วในถุงน้ำดีชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Gallstones) ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากที่สุด มักมีลักษณะเป็นก้อนสีขาว เหลืองหรือเขียว และนิ่วในถุงน้ำดีมักจะประกอบด้วยคอเลสเตอรอลที่ไม่ถูกละลายไป และอาจมีส่วนประกอบของสารอื่น ๆ
  2.  นิ่วในถุงน้ำดีชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (Pigment Gallstones) มักจะเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ซึ่งเกิดจากน้ำดีที่มีสารบิลิรูบิน (Bilirubin) มากเกินไป

อาการที่พบบ่อย เมื่อเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
เมื่อมีอาการต่างๆ เหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนของนิ่วในถุงน้ำดี จึงควรรีบพบแพทย์
  1.  ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณช่วงท้องส่วนบนหรือด้านขวา โดยมีระยะเวลาปวดตั้งแต่ 15 นาทีจนถึงหลายชั่วโมง และอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณกระดูกสะบัก หรือบริเวณไหล่ด้านขวา
  2.  อาการทางระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนที่ยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะเสียดแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หลังรับประทานอาหารมันๆ
  3.  หากมีอาการของถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน จะทำให้มีไข้ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา และอาจมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้มได้




ปัจจัยและสาเหตุของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
  1.  น้ำดี (Bile) มีคอเลสเตอรอลมากเกินไป ซึ่งโดยปกติในน้ำดีของคนเรา จะมีสารเคมีที่ขับออกมาโดยตับสำหรับละลายคอเลสเตอรอลอย่างเพียงพอ แต่หากตับขับคอเลสเตอรอลมามากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดการก่อตัวจนเกิดเป็นตะกอนและกลายเป็นก้อนนิ่วได้ในที่สุด
  2.  น้ำดีมีสารบิลิรูบิน (Bilirubin) มากเกินไป สารบิลิรูบินเป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้นเมื่อเซลล์เม็ดเลือดถูกทำลายหรือตายลง หรืออาจเกิดจากบางภาวะที่ทำให้ตับผลิตสารบิลิรูบินมามากเกินไป เช่น โรคตับแข็ง การติดเชื้อระบบทางเดินน้ำดี หรือความผิดปกติเกี่ยวกับเลือดบางชนิด เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย และโรคโลหิตจางจากการขาดเอนไซม์ G6PD3. ถุงน้ำดีขับของเสียออกมาอย่างไม่เหมาะสม ทำให้น้ำดีอาจอยู่ในสภาพที่มีความเข้มข้นมาก ซึ่งอาจก่อตัวเป็นนิ่วได้ในที่สุด


การป้องกันและรักษานิ่วในถุงน้ำดี
  1.  ไม่ควรข้ามมื้ออาหารหรืออดอาหาร เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในท่อน้ำดี ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และครบทุกมื้อในทุกวัน
  2.  หากต้องการจะลดน้ำหนัก ควรค่อยๆ ลดอย่างช้าๆ เพราะหากน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในท่อน้ำดีได้ ควรพยายามลดน้ำหนักไม่ให้เกิด 0.5-1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
  3.  รักษาน้ำหนักตัวให้มีความสมดุลและดีต่อสุขภาพ เพราะโรคอ้วนและการมีน้ำหนักตัวมากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้ ควรลดปริมาณแคลอรีในการรับประทานอาหาร และเพิ่มการออกกำลังกายเพื่อช่วยรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป และหากมีน้ำหนักตัวพอดีแล้ว ก็ควรรักษาเอาไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง
  4.  ลดอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง
  5.  หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
  6.  การรักษาสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีทั้งการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการส่องกล้อง (laparoscopic cholecystectomy)

          ทั้งนี้การป้องกัน และการรักษา ส่วนใหญ่ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็น และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายด้วยโรคอื่นๆ แต่เมื่อมีอาการเกิดขึ้นก็ควรมีการปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำของแพทย์ และเข้ารับการผ่าตัดเมื่อจำเป็น



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต
Line ID : @paolorangsit

เพิ่มเพื่อน