4 เหตุผลที่คนอายุน้อยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
4 เหตุผลที่คนอายุน้อยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

          โรคหลอดเลือดสมองแตกเป็นโรคที่มักเกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดนำไปสู่ภาวะการตีบ ตัน และแตกได้ในที่สุด เราพบว่า คนอายุน้อยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกันมากขึ้น คือกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 55 ปีเป็นเพราะอะไรถึงได้เจอโรคหลอดเลือดสมองในกลุ่มคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ

ทำไมคนอายุน้อยเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้?
          โรคเส้นเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและการทุพพลภาพ ที่พบได้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงวัย แต่ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เกิดได้ในช่วงอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ เพราะความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิต พันธุกรรม และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เรายังไม่สามารถวินิจฉัยได้ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเป็นเท่าตัว ยิ่งถ้า อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป และมากถึง 70% พบว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี

          จากประสบการณ์ของหมอ ในฐานะแพทย์อายุรกรรมระบบประสาทและสมองเราเจอคนไข้ที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ที่เริ่มเป็น โรคหลอดเลือดสมองครั้งแรก คำว่าอายุน้อยในที่นี้ อาจหมายถึง อายุน้อยกว่า 50 หรือ 55 ปี เพราะฉะนั้น เราคงพูดไม่ได้เต็มปากแล้วว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคของคนสูงอายุเสมอไป เรามาดูกันว่าเป็นเพราะอะไร ถึงได้เจอโรคหลอดเลือดสมองในกลุ่มคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ จากการศึกษา เราพบว่าคนอายุน้อยเป็นโรคหลอดเลือดสมองกันมากขึ้น คือ กลุ่มช่วงอายุตั้งแต่18-55 ปี มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้เป็น 4 ลำดับแรกๆ ที่ทำให้คนอายุน้อยก็สามารถเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าคนทั่วไป


  1.  ภาวะอ้วนลงพุง (Abdominal Obesity) ภาวะอ้วนลงพุง น่ากลัวกว่าที่คิด เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุดเป็นอันดับแรก ว่าสัมพันธ์กับโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองถึง 66% ภาวะอ้วนลงพุงนั้นคำนวณมากจาก Waist-to-Hip Ratio หรือ ตัวย่อคือ WHR โดยมีวิธีการวัดคือ เอาเส้นรอบเอว ที่วัดตรงระดับสะดือ หน่วยเป็น นิ้ว มาหารกับ เส้นรอบสะโพก ที่วัดตรงระดับ ปุ่มกระดูกต้นขา (Greater trochanter) โดยนำค่าที่ได้มาเทียบกับสัดส่วนแยกตามเพศ หากเป็นเพศชาย ได้ค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 0.93 เพศหญิง ได้ค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 0.86 จะถือว่า มีภาวะอ้วนลงพุง หรือ Abdominal obesity

  2.  การสูบบุหรี่ จากการศึกษากลุ่มคนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองนั้น พบว่า เป็นคนที่สูบบุหรี่มากถึง 56% ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะว่า การสูบบุหรี่ทำให้เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มความดันโลหิตสูง ดังนั้น การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจตามมาได้ โดยหากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังคิดที่อยากจะเลิกบุหรี่ หมอแนะนำเลยนะคะ ว่าเป็นเรื่องที่ดีมากและถ้าทำได้เร็วมากแค่ไหน ก็จะดีกับตัวคุณมากเท่านั้น เพราะว่า การหยุดสูบบุหรี่นั้น จะช่วยลดความเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ตั้งแต่ปีแรกหลังจากเลิกสูบบุหรี่เลยค่ะ

  3.  การไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ “แค่ขยับ…ก็เท่ากับออกกำลังกาย” คำกล่าวนี้ อาจจะยังไม่เพียงพอ ในแง่ของการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ เพราะคำนิยามของการออกกำลังกายที่เหมาะสมนั้นคือ การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 นาทีต่อครั้ง เป็นจำนวนมากกว่า 5 ครั้งภายใน 1 สัปดาห์ แต่ก็อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถหาเวลาออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ หากสามารถหาเวลาออกกำลังกายเพียง 20-30 นาที 3 ครั้ง/สัปดาห์ก็ทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายเลย หรือ กลุ่มคนที่เดินน้อยกว่า 1 ไมล์ต่อวัน (ประมาณ 1.6 กม. หรือประมาณ 2,000 ก้าว/วัน) เพราะมีงานวิจัยว่าที่พบว่า การที่ร่างกายของเราขยับน้อยในแต่ละวัน (Physical inactivity) นั้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ได้ถึง 48% โดยจะพบมากขึ้นถึง 50% ถ้าเป็นเพศหญิง และ 47%ในเพศชาย

  4.  ความดันโลหิตสูง ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นเหมือนผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องมาจาก 3 สาเหตุแรก ไม่ว่าจะเป็นภาวะอ้วนลงพุง การสูบบุหรี่ การไม่ออกกำลังกาย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ของสาเหตุการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก โดยมีวิจัยที่พบว่า โรคความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับภาวะโรคหลอดเลือดสมองสูงถึงประมาณ 47% เลยทีเดียว ในปัจจุบันหมอพบว่าในคนไทย เป็นโรคความดันโลหิตสูงกันเร็วขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่อายุยังน้อย คือช่วงวัย 30-45 ปีก็เริ่มที่จะพบโรคความดันโลหิตสูงกันบ้างแล้ว แม้ว่าผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป การรักษาด้วยยาเพื่อช่วยลดความดันโลหิตจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 30% และสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 21% ถึงอย่างนั้นสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ คนส่วนมากไม่ค่อยทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง และมีส่วนน้อยประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ป่วยเท่านั้น ที่สามารถจะควบคุมความดันโลหิตสูงของตนเอง ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้
         
          จากเหตุผลทั้ง 4 ประการ จะเห็นได้ว่าปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองที่สำคัญมาก และสามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ดังนั้นโรคหลอดเลือดสมอง จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว อย่าประมาทเพราะคิดว่าโรคนี้เป็นโรคของผู้สูงอายุเสมอไปนะคะ


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต
โทร 0-2577-8111 ต่อ 2 หรือ 1772
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

เพิ่มเพื่อน