โรคงูสวัดป้องกันได้ ด้วยวัคซีน
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
01-ธ.ค.-2565

โรคงูสวัดคืออะไร?

โรคงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสนี้เมื่อเริ่มเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะจากการหายใจหรือการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรงก็จะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส แต่เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อจะไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลานานหลายปีโดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ

 

ต่อเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ เช่น ในเวลาที่อ่อนเพลีย พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน เชื้อที่แฝงตัวอยู่ก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นจนทำให้เส้นประสาทอักเสบ มีอาการปวดตามแนวเส้นประสาท และเชื้อไวรัสนี้ก็จะกระจายออกมาที่ผิวหนังตามแนวเส้นประสาท เกิดเป็นแผลขึ้น

 

อาการของโรคงูสวัดเป็นอย่างไร?

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบร้อนบริเวณผิวหนัง หลังจากนั้น 2-3 วัน จะมีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวด แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย ผื่นมักเรียงกันเป็นกลุ่ม หรือเป็น แถวยาวตามแนวเส้นประสาทและจะแตกออกเป็นแผล ต่อมาจะตกสะเก็ด แผลจะหายได้เองใน 2 สัปดาห์ แต่เมื่อแผลหายแล้วอาจยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทได้

 

อาการแทรกซ้อนของโรคงูสวัด ?

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ อาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป บางรายอาจปวดได้นานหลายปี ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่พบได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา และภาวะแทรกซ้อนทางหู เป็นต้น ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด อาจมีอาการรุนแรงและแพร่กระจายได้ ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่พบน้อย ก็เช่น สมองและปอดอักเสบ

 

การรักษาและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยโรคงูสวัด

  1. ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันปกติอาจรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้ปวด เช่น paracetamol ibuprofen เนื่องจากโรคนี้สามารถหายได้เอง
  2. ผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก การได้รับประทานยาต้านไวรัส เช่น acyclovir ภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะช่วยให้รอยโรคทางผิวหนังหายได้เร็วขึ้นและลดความรุนแรงของโรค รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้
  3. ประคบแผลด้วยน้ำเกลือ ครั้งละประมาณ 10 นาที 3-4 ครั้ง/วัน จะช่วยทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น
  4. ในรายที่ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน อาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะชนิดทาหรือรับประทานร่วมด้วย
  5. ถ้ามีอาการปากเปื่อยลิ้นเปื่อยให้ใช้น้ำเกลือกลั้วปาก
  6. ตัดเล็บสั้น ไม่แกะเกา และอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมและกลายเป็นแผลเป็น
  7. ถ้ามีอาการปวดหลังการติดเชื้อ สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลแก้ปวด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
  8. ไม่พ่นหรือทายา เช่น ยาพื้นบ้านหรือยาสมุนไพรลงไปตรงบริเวณตุ่มน้ำ เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้แผลหายช้า และกลายเป็นแผลเป็นได้

 

การป้องกันการแพร่กระจายของโรคงูสวัด

การสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วยงูสวัดอาจทำให้ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดเป็นโรคสุกใสได้ ดังนั้นควรแยกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดตัว ที่นอนของผู้ป่วยโรคงูสวัดกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน

 

การป้องกันโรคงูสวัดด้วย วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชื่อ Zostavax ซึ่งสามารถลดโอกาสการเกิดโรคงูสวัดได้ 51% หรือหากว่าเกิดการติดเชื้อจะสามารถลดความรุนแรงของอาการงูสวัด และอาการปวดหลังการติดเชื้อได้ 67%

 

ใครควรฉีดวัคซีนนี้?

แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป 1 เข็ม เป็นการฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง โดยไม่คำนึงว่าเคยเป็นโรคอีสุกอีใส หรืองูสวัดมาก่อนหรือไม่

 

อาการข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน

อาจมีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ และปวดแดงบริเวณที่ฉีดได้ แต่จะหายไปภายใน 2-3 วัน

 

ใครไม่ควรฉีดวัคซีนนี้?

ผู้ที่แพ้เจลาติน หรือยานีโอมัยซิน หรือแพ้ส่วนประกอบต่างๆ ของวัคซีนนี้

ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาทิเช่น ติดเชื้อ HIV ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

***ข้อควรระวังสำหรับผู้ได้รับวัคซีนป้องกันงูสวัดแล้วต้องการตั้งครรภ์ ควรวางแผนการมีบุตรหลังจากฉีควัคซีนไปแล้ว 4 สัปดาห์

 

เอกสารอ้างอิง:

โรคงูสวัด คณะเพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล

วัคซีนงูสวัด คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ขอบคุณบทความดีๆ จาก

นพ.วีระยุทธ บุญเกียรติเจริญ

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์

ทีมเภสัชกร โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

 

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

Line ID : @paolorangsit