ยาพาราเซตามอล กินอย่างไรให้ปลอดภัย ยาพาราเซตามอล หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “ยาพารา” จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีติดบ้านแทบทุกครัวเรือน เป็นยาสำหรับลดไข้ บรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลางที่หาซื้อได้ง่าย ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่โดยไม่เป็นอันตราย แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ผิดขนาด ผิดวิธี ก็อาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้
ยาพาราเซตามอลคืออะไร มีสรรพคุณในการรักษาอย่างไร? ยานี้ มีชื่อสามัญว่ายา
“พาราเซตามอล” (Paracetamol) เป็นยาในกลุ่มลดไข้ บรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยจากไข้หวัด ปวดฟัน ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และปวดจากข้อเสื่อม
ข้อควรรู้และข้อควรระวังก่อนใช้ยา- ห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยาพาราเซตามอล
- ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาดที่แนะนำในฉลาก เอกสารกำกับยา และควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น หากใช้ยาเกินขนาดที่แนะนำ อาจเกิดพิษร้ายแรงและตับวายจนทำให้เสียชีวิตได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เพราะอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาด
- ถ้ามีไข้สูง (อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 39.5 เซลเซียส) ให้รีบไปพบแพทย์
- หากท่านมีโรคประจำตัวเป็นโรคตับ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ เพราะอาจเกิดอันตรายจากยานี้ได้ง่ายขึ้น
- กินยาพาราเซตามอลก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- เป็นยารักษาตามอาการ หากไม่มีอาการปวดหรือไข้ไม่จำเป็นต้องกินยา
- การกินยาพาราเซตามอลติดต่อกันนานเกินไป ขนาดยามากเกินไป หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย อาจส่งผลให้ตับทำงานบกพร่อง และอาจเกิดภาวะตับอักเสบหรือตับวายได้
ขนาดยาที่แนะนำให้ใช้ เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ในประเทศไทย ยาพาราเซตามอลมีหลายรูปแบบ และหลากหลายความแรง เช่น ในผู้ใหญ่ที่ใช้เป็นยาเม็ด โดยในยา 1 เม็ด อาจประกอบด้วยตัวยาพาราเซตามอลขนาด 325 มิลลิกรัม หรือ 500 มิลลิกรัม และในเด็กที่ใช้เป็นยาน้ำ โดยในยาน้ำ 1 ช้อนชา (5 ซีซี) อาจประกอบด้วยยาพาราเซตามอลขนาด 120 มิลลิกรัม 160 มิลลิกรัม หรือ 250 มิลลิกรัม เป็นต้น
ขนาดยาพาราเซตามอลที่ถูกต้อง ควรกินตามน้ำหนักตัว โดยในการกินยา 1 ครั้ง แนะนำให้ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ถ้าหากนำน้ำหนักตัวมาคำนวณแล้วเกินกว่า 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) แปลว่าใช้ยาเกินขนาด ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษร้ายแรงต่อตับได้
- ในผู้ใหญ่ แนะนำให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรกินเกิน 8 เม็ดต่อวัน หรือ 4 กรัม/วัน และไม่ควรกินยาต่อเนื่องเกิน 5 วัน
- ในเด็ก หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคตับ อาจจำเป็นต้องปรับขนาดยา ดังนั้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนกินยา เพื่อจะได้กินยาในขนาดที่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
อันตรายจากยาพาราเซตามอลที่ไม่ควรมองข้าม- หากกินแล้วเกิดอาการ บวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ลมพิษ หน้ามืด เป็นลม แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ผื่นแดง ตุ่มพอง หรือผิวหนังหลุดลอก อาจเป็นอาการแพ้ยา แนะนำให้หยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที
- หากจำเป็นต้องกินยาต่อเนื่องแล้วเกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้มขึ้น ซึ่งเป็นอาการแสดงเมื่อได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด แนะนำให้หยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ทันที
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาพาราเซตามอล ในผู้ป่วยบางรายอาจมีความเข้าใจผิด กินยาพาราเซตามอลทั้งที่ไม่มีอาการผิดปกติ เช่น กินยาดักไว้ก่อน เพื่อป้องกันอาการไข้ ถือเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผล และไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา ทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้ ดังนั้นหากยังไม่มีอาการไข้ ไม่จำเป็นต้องกินยาดักไว้ก่อน
วิธีเก็บยาที่ถูกต้องเพื่อให้คงประสิทธิภาพในการรักษา- ควรเก็บยาไว้ในภาชนะเดิม แผงเดิม ที่ปิดสนิท
- เก็บยาให้พ้นความชื้น แสงแดด และความร้อน (ควรเก็บในที่มีอุณหภูมิห้องไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส) เพราะหากอุณหภูมิสูงจะทำให้ยาเสื่อมสภาพ
- ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แหล่งที่มา: - ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบัน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560
- ข้อมูลจาก รายการ Rama Square ช่วง Daily Expert “พาราเซตามอล” ใช้ถูกวิธีปลอดภัย วันที่ 6 ธันวาคม 2559
ภญ.นันทพร เล็กพิทยา หัวหน้างานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ขอบคุณบทความดีๆ จาก
นพ.วีระยุทธ บุญเกียรติเจริญ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์
และทีมเภสัชกร โรงพยาบาลเปาโล รังสิตโปรแกรมตรวจสุขภาพ Healthy Check Happy Chooseตรวจครบรู้ชัดทุกไลฟ์สไตล์ ให้ยิ้มได้กับเรื่องสุขภาพ