รู้ถึงอันตราย ห่างไกลจากโรคไข้หูดับ
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
29-พ.ย.-2566
โรคไข้หูดับ ความเสี่ยงที่อันตรายถึงชีวิต

          คำพูดติดปากที่เรามักพูดคุยกับเพื่อนในวงปาร์ตี้หมูกะทะ คงไม่พ้นการใช้ตะเกียบส่วนตัวคีบเนื้อหมูดิบ หรือการทานหมูไม่สุกแล้วจะหูดับ ซึ่งก็เป็นข้อมูลที่ไม่เกินจริงเท่าไรนัก เพราะหมูที่เรานำมาบริโภคนั้นก็สามารถเจ็บป่วย หรือติดเชื้อได้เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั่วไป เพียงแต่หมูที่ป่วยนั้นอาจเป็นพาหะที่นำโรคมาสู่มนุษย์ได้ ซึ่งหนึ่งในโรคที่เรามักได้ยินหรือรู้จักกัน ก็น่าจะมีโรคไข้หูดับนั่นเอง

          โรคไข้หูดับนั้นเกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Suis (สเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส) ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมบวกที่มีรูปร่างคล้ายถั่วลิสง พบการติดเชื้อครั้งแรกในมนุษย์เมื่อ ปี พ.ศ. 2511 ที่ประเทศเดนมาร์ก ส่วนในประเทศนั้นมีรายงานผู้ป่วยตั้งแต่พ.ศ. 2530 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่พบในจังหวัดทางภาคเหนือ

รู้ถึงอันตราย ห่างไกลจากโรคไข้หูดับ



การติดเชื้อโรคไข้หูดับ
         สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัส กรณีที่หมูเป็นโรคแล้วมีการสัมผัสเนื้อหมู เลือดหรืออวัยวะที่ติดเชื้อโดยผิวหนังของเรานั้นมีบาดแผล รวมถึงการรับประทานเนื้อหมูดิบเข้าไป หรือแบบสุกๆ ดิบๆ ที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ ทำให้เชื้อนั้นเข้าสู่ร่างกายได้

อาการที่พบ
          ปวดศีรษะ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อตามเนื้อตัว อาเจียน คอแข็ง ในบางรายที่มีอาการรุนแรง เชื้อที่เข้าสู่ระบบประสาท ทำลายเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง ทำให้เกิดอาการหูดับ ไปจนถึงอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน

          โดยผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอการรุนแรงนั้น ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น

การรักษา
          โรคหูดับนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเราสามารถรักษาได้ด้วยยาปฎิชีวนะ ฉีดเข้าร่างกายผ่านทางเส้นเลือด และรักษาตามอาการที่เกิดเพราะเชื้อแบคทีเรีย ด้วยการให้ยาและการพักผ่อน ทานอาหารครบตามโภชนาการที่ร่างกายต้องการ เพื่อบรรเทาอาการ ไม่ให้สุขภาพของผู้ป่วยทรุดหนักกว่าเดิม


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต
โทร 0-2577-8111 ต่อ 2 หรือ 1772

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

เพิ่มเพื่อน