ภาวะซน สมาธิสั้นในเด็ก ปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ของลูกน้อยในวัยเด็กช่วงเริ่มเข้าเรียนไปจนถึงวัยประถม คงหนีไม่พ้นเรื่องเด็กซน ไม่เชื่อฟัง ไปจนถึงภาวะที่ลูกน้อยอาจเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น
วันนี้เรามีคุณหมอที่เชี่ยวชาญด้านจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่จะมาให้ความรู้ทั้งการเฝ้าสังเกต อาการที่พบ และการรักษาที่ถูกต้องกัน
ภาวะซน สมาธิสั้น ไม่นิ่งในเด็ก มักเป็นภาวะที่พ่อแม่มักพามาพบแพทย์ในช่วงวัยอนุบาลไปจนถึงประถมต้น เพราะเด็กๆ เริ่มไปโรงเรียนต้องเข้าสังคม ทำให้ภาวะเหล่านี้สังเกตได้ง่าย และชัดเจนมากขึ้นที่เรามักพบเป็นส่วนใหญ่คือลูกน้อยมีปัญหากับเพื่อน กับครูประจำชั้น ไปจนถึงปัญหาทางการเรียน
แล้วเราจะสังเกตได้อย่างไรว่าลูกน้อยมีภาวะสมาธิสั้น เราต้องแยกให้ออกกก่อนว่าภาวะนี้เกิดจากพัฒนาการ ที่ทำให้ลูกน้อยซนตามวัยได้เป็นเรื่องปกติ แต่ความซนถึงระดับไหนจึงเรียกว่าผิดปกติหรือเป็นภาวะสมาธิสั้น
การสังเกตภาวะซน สมาธิสั้น เด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นที่เป็นโรค นั้นจะมีพลังเยอะมาก ซนไม่ระวังจนเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยๆ มีภาวะซนกว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน เมื่ออยู่ในชั้นเรียนไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ไม่สนใจสิ่งที่ครูสอน ไปจนถึงไม่ทำการบ้าน มัวแต่เล่นอย่างอื่นจนการบ้านไม่เสร็จ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ
หากพบว่าลูกน้อยมีอาการดังกล่าว หรือกังวลว่าลูกน้อยมีภาวะสมาธิสั้นหรือไม่ สามารถเข้ามาพบแพทย์เพื่อทำการประเมินก่อนได้
ปัจจัยที่ทำให้ลูกน้อยเป็นภาวะซน สมาธิสั้น- โรคทางพัฒนาการ หรือ ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder คือภาวะผิดปกติที่ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ดีเท่าที่ควร เกิดสมาธิสั้นว่าปกติ อยู่ไม่นิ่ง วอกแวกง่าย ไม่สามารถเก็บรายละเอียดของงานได้
- โรคภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ LD - learning disorder อาการที่พบคือ เหม่อ ใจลอย หรืออาจจะอยู่ไม่นิ่ง แต่ในเฉพาะช่วงเวลาที่ไม่สนใจ วิชาเรียนที่ไม่ถนัด ไม่ชอบ
- ภาวะกังวล ซึมเศร้า ส่งผลถึงอารมณ์ สมาธิสั้น ไม่นิ่งได้ด้วย
- การปล่อยให้ลูกน้อยอยู่กับหน้าจอมากเกินไป
- การดูแลที่ไม่เหมาะสม ขาดการฝึกฝนเรื่องวินัย ความไม่สมดุลของการดูแลเอาใจใส่ เข้มงวดมากเกินไปหรือตามใจเด็กมากเกินไป
- ภาวะความเครียด ความรุนแรง ความขัดแย้งในครอบครัว ซึ่งตัวเด็กจะได้รับผลกระทบจากภาวะนี้โดยตรง
การรักษาภาวะซน สมาธิสั้น เนื่องจากสาเหตุและปัจจัยนั้นมีมากมาย เด็กหนึ่งคนสามารถเป็นภาวะนี้ได้จากหลายสาเหตุรวมกัน การรักษาในแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน แพทย์จะทำการประเมินก่อนและซักประวัติเพื่อหาปัจจัยที่เกิดขึ้นก่อน หากเกิดจากโรคพัฒนาการ การให้ยาก็จะมีบทบาทในการรักษา หรือมาจากการดูแล แพทย์ก็ต้องให้ผู้ปกครอง ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาด้วย รวมไปถึงห้องเรียน ครูประจำชั้นก็มีส่วนในการรักษา เพราะครูประจำชั้นจำเป็นต้องรู้ถึงปัญหาเพื่อจัดการปัญหาของเด็กที่เกิดขึ้นในห้องเรียน
ภาวะซน สมาธิสั้นนั้นเป็นภัยเงียบที่เรามองไม่เห็น และหากไม่สังเกตก็อาจจะไม่รู้เลยว่าลูกน้อยของเรานั้นเป็นภาวะนี้อยู่ ยิ่งปล่อยนานไปหรือละเลยคิดว่าโตคงจะหายไปเอง ยิ่งกลายเป็นการเพิ่มโอกาสให้ภาวะนี้เพาะเชื้อ ฝังรากลึก การรักษาก็จะยิ่งยากมากขึ้น หากปล่อยเอาไว้นาน
ขอบคุณบทความดีๆ จาก
แพทย์หญิง ญาณิศา ชัยนิธิกรรณ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ประจำโรงพยาบาลเปาโล รังสิต
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต
โทร 0-2577-8111 ต่อ 2 หรือ 1772รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต